รฟม. ลงพื้นที่ ตรวจเข้มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู คืบหน้าแล้วกว่า 54%

วันที่ 27 เมษายน 2563 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย คณะกรรมการตรวจการจ้าง รฟม. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี บริเวณสถานีศรีรัช สถานีมีนบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และอาคารจอดแล้วจร

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2561 โดยขณะนี้โครงการฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างรวมกว่า 54% แบ่งเป็นงานโยธา 55.62% และงานระบบรถไฟฟ้า 49.95% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) ซึ่งในการตรวจความก้าวหน้าในวันนี้ รฟม. ได้กำชับให้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ และต้องปรับแผนก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อย่างเต็มที่

โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ดำเนินงานในส่วนของโครงสร้างฐานรากแล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างเร่งดำเนินงานในส่วนที่เป็นระดับพื้นดิน เช่น การดำเนินงานก่อสร้างในส่วนของสถานีต่างๆ การติดตั้งคานทางวิ่ง (Guideway Beam) และ ทางเดินฉุกเฉิน (Evacuation Walkway) ซึ่งจะติดตั้งที่ด้านข้างของคานทางวิ่ง เพื่อเป็นทางเดินเท้าที่ใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินการในส่วนงานโยธาของสถานีต่างๆ ไปแล้วจำนวน 28 สถานี (ข้อมูลสรุป ณ เดือนมีนาคม 2563)

และในวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีมีนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สถานีสำคัญที่น่าสนใจ   ทำหน้าที่เป็นฟีดเดอร์ในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยเชื่อมต่อกันระหว่างชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร (Concourse Level) ชั้น 1 ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร (Concourse Level) ชั้น 2 ของสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจากนี้ ได้ชมการสาธิตการทำงานของกระบวนการสับเปลี่ยนรางรถไฟฟ้า (Switching Track) ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ณ บริเวณ ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot)

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการตรวจความคืบหน้าในครั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความก้าวหน้าในระดับที่น่าพอใจ แม้จะเป็นในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เพราะมีการปรับแผน การทำงานในช่วงกลางวันเพื่อทดแทนช่วงเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งทุกส่วนงานร่วมมือกันดำเนินงานอย่างเต็มที่ จึงอยาก ให้รักษามาตรฐานของการทำงานเช่นนี้ไว้ โดย รฟม.จะมีการลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป”

สำหรับขบวนรถตามกำหนดจะเข้ามาถึงประเทศไทยประมาณเดือนตุลาคม 2563 รองรับผู้โดยสาร 28,000 คน/ชม./ทิศทาง ภายในห้องโดยสารของขบวนรถจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ครบครัน ทั้งกล้อง CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิงและที่เปิดประตูฉุกเฉิน ในส่วนของตู้โดยสาร จะเป็นตู้ Innovia 300 Monorail จาก Bombardier Rail Control Solutions ซึ่งมีความรวดเร็วในการดำเนินงาน มีปริมาณความจุปานกลาง ซึ่งเพียงพอและเหมาะสมกับการเป็นฟีดเดอร์ทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารจากชานเมือง เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายหลัก รวมทั้งตัวรถมีน้ำหนักเบากว่าและใช้ล้อยางจึงทำให้มีเสียงรบกวนน้อยกว่ารถไฟฟ้าสายหลักที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ประหยัดพลังงาน มลพิษต่ำ และที่สำคัญมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง

ทั้งนี้ รฟม. ยังคงวางเป้าหมายการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ให้ประชาชนได้ใช้ภายในเดือนตุลาคม 2564 โดยช่วงแรกวางแผนจะทยอยเปิดบริการตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างต่อไป

———-