วันที่ 27 เมษายน 2563 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีบทความที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง ในหัวข้อ “การรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่“ฆ่าตัวตาย”จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์วิจัย
กรมสุขภาพจิตได้นำบทความวิจัยนี้มาประเมินอีกครั้งโดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการวิจัยด้านสุขภาพจิต และพบข้อสังเกตจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัยและความถูกต้องของเนื้อหา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนได้ จึงขอชี้แจงข้อสังเกตดังนี้
1. งานวิจัยนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อและการนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต
2. การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น โดยขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
3. การอภิปรายผลการวิจัยโดยขาดการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยสุขภาพจิตที่มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากให้ประชาชน
โดยการกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการฆ่าตัวตายกับปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นมีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็น การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2563 นั้น กรมสุขภาพจิตได้ทำการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปีตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต และปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว โดยกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ (เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจ ความหึงหวง) มักเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่า หากบุคคลใดต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ก็จะเป็นปัจจัยปกป้องช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาระบุว่าปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจหรือนโยบาย เป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น อาจก่อให้เกิดการมองข้ามความสำคัญในการจัดการกับปัจจัยอื่นๆที่มีร่วม หรือมองข้ามการใช้ปัจจัยความเข้มแข็งอื่นเป็นเครื่องป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่นักวิจัยจากหลากหลายสาขาให้ความสนใจในการทำงานวิจัยด้านสุขภาพจิต ตรงกับเป้าหมายของกรมสุขภาพจิตที่ดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมาโดยตลอด ซึ่งหากข้อมูลมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดจากการทำวิจัยบนระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก กรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทยต่อไป