กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ลงพื้นที่ตลาดประชานิเวศน์คุมเข้มมาตรการ ตามคำแนะนำของ กรมอนามัยในการจัดระเบียบตลาด ป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
วันที่ 27 เมษายน 2563 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจตลาดปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด-19 ร่วมกับนางทิชา ณ นคร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ณ ตลาดประชานิเวศน์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ว่า จากข้อมูลการสำรวจ Thaistopcovid ของกรมอนามัยในตลาดสด พบว่า ร้อยละ 88.99 ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing ระหว่างผู้ขายของกับผู้บริโภค นอกจากนี้พ่อค้า แม่ค้า พนักงานตลาด และผู้บริโภคได้ให้ความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ร้อยละ 98.84 จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือ เจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 96.81 และทำความสะอาดแผง โต๊ะจำหน่ายอาหารด้วยน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ ทุกวัน ร้อยละ 95.65 ดังนั้น กรมอนามัยจึงขอเน้นย้ำให้ทุกตลาดได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ โดยให้เจ้าของตลาดจัดให้มี จุดคัดกรองพ่อค้า แม่ค้า ผู้บริโภค เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา รักษาระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร และจัดจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ดูแลสถานที่ ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ ด้วยการทำความสะอาดบริเวณพื้น ทางเดิน แผงจำหน่ายสินค้าอย่างน้อยวันละครั้ง และ จัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เช่น เสียงตามสาย บอร์ด ป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
“สำหรับตลาดประชานิเวศน์ที่ได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัยโดยกำหนดทางเข้า-ออก เพื่อคัดกรองคนเข้าตลาด มีการวัดอุณหภูมิ จัดให้มีจุดล้างมือและบริการเจลแอลกอฮอล์ ส่วนผู้จำหน่ายอาหารและผู้ซื้อ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและแผง 1-2 เมตร อาหารปรุงสำเร็จ ต้องมีการปกปิดและใช้อุปกรณ์การหยิบจับอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดแผง ร้านค้า อุปกรณ์ของใช้ด้วยน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จับจ่ายสินค้าภายในตลาด สำหรับในส่วนผู้ซื้อและผู้บริโภคนั้น ควรวางแผนการซื้อ และมาตลาดอาทิตย์ละ 1-2 วัน เพื่อใช้เวลาในตลาดให้น้อยที่สุด ไม่ควรพาเด็กและผู้สูงอายุมาตลาดเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อได้ง่าย เมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำ Application Stopcovid-19 (http://stopcovid.anamai.moph.go.th) โดยให้ผู้ประกอบการตลาดที่ปฏิบัติตามมาตรฐานประเมินตนเองและปักหมุดร้าน ส่วนผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ เลือกการใช้บริการ และร้องเรียนเสนอแนะ ผ่านช่องทางเดียวกันได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน นางทิชา ณ นคร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส. ได้มีนโยบายชัดเจนให้ภาคีที่รับการสนับสนุนโครงการจาก สสส. เร่งปรับแผนการทำงานเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มที่ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอันหนึ่งคือการสนับสนุนการจัดระเบียบตลาดสด ตลาดนัด ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง โดยร่วมกับกรมอนามัย และกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบของสื่อสปอตเสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ บอร์ด สติกเกอร์ ตลอดจนการสนับสนุนอ่างล้างมือเท้าเหยียบให้กับสำนักงานเขต และตลาดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำร่องตลาดละ 1 ชิ้น โดยในส่วนของการผลิตอ่างล้างมือเท้าเหยียบนั้นได้รับความร่วมมือจากเยาวชนศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก และรุ่นพี่ ที่ออกไปประกอบอาชีพแล้วจำนวนหนึ่ง ร่วมกันทำอ่างล้างมือเท้าเหยียบ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตอ่างล้างมือนี้ได้มากกว่า 150 ชิ้นแล้ว ตั้งเป้าผลิตให้ได้ถึง 300 ชิ้น และกำลังทยอยส่งมอบให้กับสำนักงานเขตเพื่อส่งต่อไปยังตลาดในพื้นที่กำกับดูแล ซึ่งแต่ละตลาดสามารถนำโมเดลต้นแบบอ่างล้างมือนี้ไปดัดแปลง จัดทำเพิ่มเติมได้เองตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่โมเดลอ่างล้างมือเท้าเหยียบนี้ มีหลายพื้นที่ได้นำไปประยุกต์ ดำเนินการผลิตและติดตั้ง ในตลาดนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร เช่นวิทยาลัยเทคนิคสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา เป็นต้น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับตลาดในพื้นที่ ทำให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ เข้ามามีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ เช่นเดียวกับเยาวชนจาก ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก และรุ่นพี่ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตอ่างล้างมือเท้าเหยียบต้นแบบนี้” นางทิชา กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 27 เมษายน 2563