การเคหะแห่งชาติมุ่งพัฒนาชุมชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ เดินหน้าสำรวจผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อจัดทำดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ในช่วงไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) พบว่า มีค่าดัชนีโดยรวมของครัวเรือนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีค่าเท่ากับ 56.5 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงดัชนีเศรษฐกิจชุมชน (Community Economic Index : CEI) ว่า การเคหะแห่งชาติได้ติดตามข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสภาพทั่วไปเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงความพึงพอใจของครัวเรือนที่มีต่อปัจจัยด้านต่างๆ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าว มาศึกษาตัวชี้วัดในการประเมินสภาวะการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านที่อยู่อาศัยของครัวเรือน พร้อมนำมาเปรียบเทียบกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจของชุมชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) ได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างครัวเรือน ผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนีด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 53.9 ยังคงสูงกว่าครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 34.5 เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของ การเคหะแห่งชาติมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนครัวเรือนที่มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอนในการประกอบอาชีพ และในครัวเรือนส่วนใหญ่มีการออมเงินเพื่ออนาคต
ดัชนีทางสังคม พบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนีเท่ากับ 50.4 ส่วนครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีค่าดัชนีเท่ากับ 36.8 ซึ่งดัชนีชุมชนของการเคหะแห่งชาติยังสูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการทำกิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความสามัคคีและชุมชนสามารถพึ่งพากันได้
และดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม พบว่า ครัวเรือนที่อยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าสูงถึง 65.3 ในขณะที่ครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีค่าดัชนีเพียง 20.7 เนื่องจากชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีความมั่นคงด้าน ที่อยู่อาศัย โดยเป็นเจ้าบ้านและเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ และมีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพดี ไม่เสื่อมโทรม ทั้งยังช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกด้วย
สำหรับผลการประเมินดัชนีรวมทั้ง 3 ด้าน (ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม) พบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าเท่ากับ 56.5 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและสูงกว่าดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่า 30.7 ที่ต่ำกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) เท่ากับว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในโครงการของ การเคหะแห่งชาติมีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่อาศัยมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน ในขณะที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ มีค่าที่ต่ำกว่าค่ากลาง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของดัชนีทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนโครงการของการเคหะแห่งชาติกับดัชนีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอื่นๆ พบว่า ในไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายน 2561) จาก 52.1 เป็น 53.9 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) และดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งในเรื่องการสร้างโอกาสทางอาชีพเพิ่มรายได้ การเปิดตลาดประชารัฐภายในชุมชน รวมทั้งมีการลดค่าครองชีพ และลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของ ผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นภายในครัวเรือน จึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจกลุ่มรายได้น้อยระดับชุมชนและระดับฐานรากให้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 พร้อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจระดับฐานราก ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติเตรียมร่วมงานมหกรรม Thailand Social Expo 2018 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561 ณ Hall 5 – 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายใต้แนวคิด “NHA CITY การเคหะฯ ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย” โดยพื้นที่การจัดงานของการเคหะแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณบูธที่ 2 Hall 5 แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนตลาดวิชาการ โซนตลาดที่อยู่อาศัย โซนตลาดการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย และโซนตลาดเคหะประชารัฐ