พม. จัดทำครัวกลางและมอบอาหารให้กับชุมชนคลองเตย ตามโครงการ ‘พม.เราไม่ทิ้งกัน’ ชุมชนสู้ภัยโควิด-19

วันที่ 25 เม.ย. เวลา 10.00 น.  นายปรเมธี  วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม.  และนายสมชาติ ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ลงพื้นที่ชุมชนคลองเตย  เพื่อประกอบอาหารและจัดทำครัวกลาง  พร้อมมอบสิ่งของอุปโภค  บริโภค  เป็นการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ภายใต้โครงการ พม. เราไม่ทิ้งกัน ตามแนวคิด สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน  โดยมีผู้นำชุมชนและชาวบ้านกว่า 200 คนเป็นตัวแทนรับมอบสิ่งของ   ณ ลานกีฬาชุมชนคลองเตยล็อค 4-5-6 เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ

นายปรเมธี  กล่าวว่า  ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน  แก้ไข  และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ภายใต้โครงการ ‘พม. เราไม่ทิ้งกัน’ ตามแนวคิด  ‘สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน’   โดยลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุดในชุมชนนำร่อง 286 ชุมชนของ กทม. ภายใต้การดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และการเคหะแห่งชาติ  โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.  มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  จึงได้มอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าทีมลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยล็อค 4-5-6 เขตคลองเตย  เพื่อพบปะเยี่ยมชาวชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน  โดยตนได้รับทราบถึงปัญหาและความต้องการในการช่วยเหลือต่างๆ พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้ผู้นำชุมชนเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ชาวชุมชน

นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า  ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนแออัดอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเรื่องของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  มีชุมชนทั้งหมด 45 ชุมชน  จำนวนประชากรทั้งหมด 94,380 คน  19,114 หลังคาเรือน  เป็นชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการท่าเรือกรุงเทพฯ จำนวน 26 ชุมชน   และที่ดินประเภทอื่นๆ อีก 19 ชุมชน  และชุมชนที่ยังไม่จดทะเบียนรับรองชุมชน 5 ชุมชน  ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ส่งผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าว  เกิดสภาวะการตกงาน  ขาดรายได้  เงินเดือนบางส่วนลด  ทางสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เขตคลองเตยทั้ง 45 ชุมชน ได้ประสานความร่วมมือและดำเนินการขับเคลื่อนหาแนวทางการแก้ไขป้องกันและช่วยเหลือกลุ่มผู้เดือดร้อนในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

นางประทีป  อึ้งทรงธรรม  ฮาตะ  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป  กล่าวว่า  พวกเราในชุมชนคลองเตยมาช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรโรคโควิดจะไม่ถึงชาวบ้าน  โดยได้ข้อสรุป  คือ  จะดำเนินการคัดกรองทุกคนที่อยู่ในชุมชน  เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเฝ้าระวัง  และอยู่กันอย่างปกติสุข  ซึ่งในชุมชนกำลังจะทำรื่องอาสาสมัครชุมชน  เพื่อทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในการที่จะติดตามผู้ที่ติดเชื้อ  พร้อมให้ความมั่นใจว่าจะไม่ถูกรังเกียจจากสังคมจนรักษาให้หายเป็นปกติ  ครอบครัวก็อยู่ได้ไม่อดอยาก

“ตอนนี้สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่   คือมีจุดฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อโรค  5 จุด  โดยให้ผู้ที่ว่างงานมาเป็นอาสาสมัครอยู่ประจำในแต่ละจุด นี่คือการตื่นตัวของพี่น้องในชุมชนที่มีความพร้อมที่อยากช่วยภาครัฐในการแก้ไขปัญหานี้”  นางประทีปกล่าว

นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ  ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา  กล่าวว่า  ทุกวันนี้คนในชุมชนคลองเตยได้ช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น   เช่น  การแจกถุงยังชีพของหลวงพ่อวัดสะพาน อาหารปรุงสุก  การแจกข้าวของจากผู้ใจบุญในแต่ละจุดซึ่งมีจำนวนไม่น้อย   แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น  คนในชุมชนยังตกงาน  ไม่มีข้าวกิน  ครัวกลางในคลองเตยจึงเกิดขึ้นใน 46 ชุมชน  เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้อง  แต่คนที่นี่มีมากอาจจะดูแลกันไม่ทั่วถึง  จึงอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องงบประมาณในการจัดหาวัตถุดิบ  อาจจะทำขายกันเองในราคาถูกอิ่มละไม่เกิน 20 บาท  ซึ่งพวกเราเชื่อว่าคนจนสามารถจัดการตนเองได้

ส่วนแผนงานและแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์โควิด 19  ของชุมชนคลองเตย  แบ่งออกเป็น 3 ระยะ  คือ

1.แผนระยะสั้น   เรื่องการสำรวจข้อมูลกลุ่มผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในระดับชุมชน  โดยสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย   และมีมาตรการการช่วยเหลือเบื้องต้นในเรื่องของทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจริง  โดยได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเมอร์ซี  มูลนิธิดวงประทีป และเครือข่ายอื่นๆในชุมชน

2.แผนระยะกลาง  จัดทำระบบการใช้คูปองอาหาร  โดยกระจายรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนและลดขั้นตอนในการเดินทางเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการออกจากชุมชน  และให้เป็นไปตามมาตรการ Social Distancing  นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองพี่น้องที่ตกขอบ (ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท)   ผู้เปราะบางทางสังคม  โดยทีม อพม. และผู้นำในชุมชน  และ 3.แผนระยะยาว  การสร้างระบบกองทุนข้าวสาร  อาหารแห้ง  เพื่อหมุนเวียนช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่คลองเตย

********************