กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 49 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 24 – 26 เมษายน 2563 ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยประสานจังหวัดและศูนย์ ปภ. เขตในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
24 เม.ย. 63 – นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะแผ่เข้าปกคลุมภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 49 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน วาตภัย ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และมีคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ในช่วงวันที่ 24 – 26 เมษายน 2563 แยกเป็น
ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครนายก
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และยะลา
ซึ่ง กอปภ.ก ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจถูกฟ้าผ่าได้ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้ประสานหน่วยงานเจ้าท่าประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและงดการเดินเรือ หากทะเลมีคลื่นสูงและกำลังแรง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัย ก่อนออกเรือทุกครั้ง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป