วันที่ 24 เมษายน 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมแผนการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกรมการปกครอง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กองทัพบก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)(GISTDA) พร้อมทั้งได้ประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี นครปฐมนครนายก ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สมุทรสาคร อ่างทอง ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา ด้วย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำจัดเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนที่สำคัญ ที่ผ่านมา รัฐบาล ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาโดยตลอดและมีการติดตามผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการประชุมในวันนี้เพื่อติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งผลการดำเนินการประจำปี 2562 และ 2563 และเพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการรับน้ำหลากช่วงฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนภายใต้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ที่แสดงการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง จำนวน 25 จุด ให้หน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำนวน 4 หน่วยงานเพื่อจัดทำแผนดำเนินการก่อนฤดูฝน ได้แก่ 1. กรมชลประทาน จำนวน 16 จุด 2. กรมเจ้าท่า จำนวน 4 จุด3. กรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 3 จุด และ 4. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 2 จุดโดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าว เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนนี้ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ให้เร่งรัดติดตามการจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำด้วยเรือท้องแบนที่ได้จัดซื้อให้ โดยขอให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บทุกวันอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมผลการดำเนินงานให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทราบทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ส่วนการดำเนินการของชมรมคนริมน้ำขอให้นายอำเภอไปทำการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวันนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในครั้งต่อไป ด้วยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA มาบูรณาการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบนำไปวางแผนและแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณในการสำรวจ การสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำต่างๆ โดยขอให้ GISTDA ส่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำต่างๆ เขตลุ่มน้ำภาคกลาง ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทุก 15 วันเพื่อแจ้งให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปจัดทำแผนดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ทั้งสองหน่วยงานประสานการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันและรายงานผลให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติทราบต่อไป
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาได้แบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและพื้นที่แหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยง โดยพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางมี 4 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ ได้แก่กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบในแม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาลงมา) และแม่น้ำแม่กลองกรมชลประทาน รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (เหนือเขื่อนเจ้าพระยา) แม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพลเทพถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำบรมธาตุถึงประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด) แม่น้ำป่าสักแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง กรมเจ้าท่า รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (จากเขื่อนเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯ) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา) แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำสะแกกรัง และกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงคลองสาขาในเขตกรุงเทพฯ ส่วนแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยงทั่วประเทศให้บูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กับหน่วยงานหลักที่มีเครื่องจักร ได้แก่ อปท, ชป, จท, ยผ, หน่วยงานทหารทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดหาเรือท้องแบนแบบติดเครื่องยนต์ จำนวน 790 ลำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ในการกำจัดผักตบชวา และกรมการปกครองได้จัดตั้งชมรมคนริมน้ำจำนวน 7,608 ชมรม มีสมาชิกจำนวน 1,424,050 คน
สำหรับในปีงบประมาณ 2562 มีผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศของทุกหน่วยงานร่วมกัน สามารถกำจัดได้ทั้งหมด 4,646,622 ตัน และปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – 17 เมษายน 2563 สามารถกำจัดได้แล้ว จำนวน 1,411,156 ตัน ทั้งนี้ การกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารจัดการน้ำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเปิดทางน้ำ ให้น้ำสามารถไหลเวียน การบริหารจัดการน้ำทำได้สะดวกทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน อีกทั้งยังเป็นการรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำและแหล่งน้ำให้อยู่ในค่ามาตรฐานอีกด้วย