ปภ.รายงานเกิดวาตภัยในพื้นที่ 17 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายและช่วยผู้ประสบภัยโดยด่วน

วันที่ 24 เม.ย. 63 – กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิพลความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงเกิดการประทะของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 17 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวม 56 อำเภอ 114 ตำบล 317 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 1,849 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย (มุกดาหาร 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงเกิดการประทะของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ทำให้ในช่วงวันที่ 22 เมษายน 2563 – ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 17 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวม 56 อำเภอ 114 ตำบล 317 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 1,849 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย (มุกดาหาร 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 24 – 26 เมษายน 2563 พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะยังคงเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้น ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากภาวะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า โดยอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป