จับล็อตใหญ่ อย. ร่วมกับ ตำรวจทลายโกดังแหล่งพักสินค้าจำพวกหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมของกลางกว่าแสนชิ้น มูลค่านับ 10 ล้านบาท พบเจ้าของเป็นชิปปิ้งชาวจีนนำมาพักสินค้าก่อนเร่งตัดวงจรก่อนกระจายไปรายย่อย
(วันที่ 23 เมษายน 2563) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับพล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พร้อมด้วย พล.ต.ต. ชยุต มารยาทตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี) , พ.ต.อ. วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.ตร.มหด.904 สนธิกำลังตำรวจ บก.ปคบ. , บก. บก.ตร.มหด.904 , ตำรวจภูธรปทุมธานี และกรมการค้าภายใน นำกำลังพร้อมหมายค้นศาลอาญาเลขที่ ค 64/2563 ลงวันที่ 23 เมษายน 2563 เข้าตรวจค้นโกดังไม่มีเลขที่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนรังสิต-ปทุมธานี ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี หลังสืบทราบว่าโกดังดังกล่าวเป็นแหล่งพักสินค้าจำพวกหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เกิดเหตุเป็นโกดังขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 5 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนน ติดปั้มน้ำมัน เจ้าหน้าที่นำหมายค้น เข้าตรวจค้นโกดังกล่าว จากการตรวจค้นพบหน้ากากอนามัย ไส้กรองหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน PPE เจลแอลกอฮอล์ ชุดตรวจเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ รวมของกลางมากกว่าแสนชิ้น นอกจากนี้ ยังพบแกลลอนเจลแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุเจลแอลกอฮอล์กว่า 600 ลิตร จำนวน 3 แกลลอน อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ จำนวนมาก มูลค่าของกลางรวมกว่า 10 ล้านบาท การเข้าตรวจค้นโกดังแห่งนี้ สืบเนื่องจากชุดสืบสวนได้ทำการแกะรอยจากเว็บไซต์ที่มีการลักลอบจำหน่ายสินค้าในลักษณะดังกล่าว กระทั่งพบว่ามีการใช้โกดังแห่งนี้เป็นสถานที่พักของ ก่อนที่จะกระจายไปยังผู้ค้ารายย่อย ซึ่งจากการสอบสวนผู้ดูแล เบื้องต้นให้การรับสารภาพสอดรับการแนวทางสืบสวนว่า เจ้าของบริษัทซิปปิ้งเป็นชาวจีน มีหน้าที่รับสินค้าที่สั่งมาจากประเทศจีนมาเก็บไว้ที่โกดังแห่งนี้ ก่อนจะทำการกระจายสินค้า อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน และ อย. จะทำการคัดแยกของกลางว่าจัดอยู่ในประเภทที่ได้คุณภาพหรือไม่ รวมทั้งอยู่ในการกำกับดูแลในส่วนของกรมการค้าภายในหรือไม่ จากนั้นในส่วนของการสืบสวนขยายผลทาง บก.ภ.จว.ปทุมธานี ได้ตั้งชุดพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำที่มาที่ไป พร้อมดำเนินคดีในทุกความผิดที่พบ หากเข้าความผิดในส่วนใดก็จะเร่งดำเนินการ โดยเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาตามความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ และพ.ร.บ.เครื่องสำอาง
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 มักพบการฉวยโอกาสลักลอบผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เกี่ยวกับการป้องกันโควิด -19 เป็นจำนวนมาก ซึ่ง อย. ก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และหากพบเห็นการลักลอบผลิต/จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องสงสัย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
——————————————————–