เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระหว่างปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ และรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ กสม. พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น หายตัวไป ถูกลอบสังหาร ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Litigation Against Public Participation : SLAPP) โดยการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาเพื่อยับยั้งหรือข่มขู่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการกดดันให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจำต้องระงับการแสดงความคิดเห็น ยอมความ และยุติการตรวจสอบประเด็นสาธารณะ
นายวัส กล่าวว่า กสม. ได้ติดตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีหลักการเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวและการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา ซึ่งมาตรา ๘ แห่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความว่า “ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๖๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๖๑/๑ ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องคดีนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่”
นายวัส กล่าวว่า ที่ประชุม กสม. ได้พิจารณาหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการตราร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรสนับสนุนมาตรา ๘ แห่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ให้เพิ่มมาตรา ๑๖๑/๑ พร้อมกับส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีและประธาน สนช. พิจารณาแล้ว ทั้งนี้หลักการในตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า การฟ้องคดีอาญาในปัจจุบันปรากฏปัญหาว่า คดีจำนวนไม่น้อยที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ เช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยได้รับความลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อต่อรองให้จำเลยต้องยอมกระทำหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการมิชอบ โดยเฉพาะการฟ้องร้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยในการป้องกันตนเองหรือป้องกันประโยชน์สาธารณะ ทำให้มีคดีขึ้นสู่การไต่สวนมูลฟ้องของศาลเป็นจำนวนมากซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
นายวัส กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ได้รับรองหลักความเสมอภาคกัน
ในกฎหมาย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งรัฐบาลไทยได้สนับสนุนการรับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Declaration on Human Rights Defenders) และได้รับข้อเสนอแนะภายใต้กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review : UPR) ว่าจะทำให้กฎหมายไทยว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบกับแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมได้กำหนดให้มีการพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพ
ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย
ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า หลักการในการตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่มีต่อรัฐบาลเมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ว่า รัฐบาลยังควรดูแลว่า การฟ้องหมิ่นประมาทจะไม่ถูกธุรกิจนำมาใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“การเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๑๖๑/๑ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะเป็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งมีผลเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลและชุมชนในการป้องกันตนเองและปกป้องประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาพรวม ทั้งยังอาจส่งผลไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางสังคมอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของชาติ ๒๐ ปีด้วย” ประธาน กสม. กล่าวในตอนท้าย
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ