กรมอนามัย ลงพื้นที่เยาวราช เตรียมความพร้อมรองรับการผ่อนปรนผู้ประกอบการค้า กำชับเข้ม ด้านสุขาภิบาลอาหาร – สุขอนามัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชาคมเขตสัมพันธวงศ์ นำทีมลงพื้นที่เยาวราช  ย่านไชน่าทาวน์ สำรวจและเตรียมความพร้อมรองรับการผ่อนปรนผู้ประกอบการค้า เข้มมาตรการด้านสุขาภิบาลอาหารและสุขอนามัยของผู้ปรุงประกอบอาหารทั้งในรูปแบบร้านจำหน่ายอาหารและรูปแบบเดลิเวอรี (Delivery)

วันที่ 23 เมษายน 2563) นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังการลงพื้นที่เยาวราช เพื่อสำรวจและเตรียมความพร้อมผ่อนปรนผู้ประกอบการค้าในพื้นที่เยาวราชไชน่าทาวน์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 และสถานกาณ์หลังจากนี้หากมีการผ่อนปรนเพิ่มสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าย่านเยาวราชต้องดำเนินการและคุมเข้มอย่างต่อเนื่องคือความสะอาดปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ปรุงประกอบและจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จนั้น ควรมีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารทุก ๆ 2 ชั่วโมง ในกรณีมีการใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับ หรือตักอาหาร ต้องระมัดระวังไม่ให้ส่วนของด้ามจับตก หล่นหรือสัมผัสกับอาหารเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ หากจำหน่ายอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ควรจัดให้มีคีมคีบเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้ลูกค้าสัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรง และล้างมือหลังการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกครั้ง รวมถึงควรกำหนดระยะห่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย 1- 2 เมตรด้วย

นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี (Delivery) ต้องใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาดสดที่ได้มาตรฐานหรือมีป้ายรับรองตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัย อาหารต้องปรุงสุกใหม่ บรรจุอาหารในภาชนะที่เหมาะสม ปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการขนส่ง ไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร มีการติดฉลากที่ระบุชื่อร้านอาหารวัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอาหาร และจัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนคนขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1-2 เมตร และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ส่วนคนขนส่งอาหารเดลิเวอรี (Delivery) ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการไอ จาม ลดความเสี่ยงการปนเปื้อนอาหารและได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานขนส่งอาหาร ก่อนเข้าร้านอาหาร และหลังการส่งอาหาร สำหรับในส่วนของผู้บริโภคนั้นเมื่อได้รับอาหารแล้วควรตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารต้องไม่มีกลิ่นบูดเสีย บรรจุในภาชนะที่สมบูรณ์ก่อนบริโภค

“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำ Application Stopcovid-19 ให้ร้านอาหาร และผู้ประกอบการร้านอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี (Delivery) เข้าไปประเมินสถานประกอบตนเองในช่อง “ประเมินสถานที่” แล้วเลือกประเภทของสถานประกอบการเพื่อประเมินว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากทำได้ครบตามข้อกำหนดก็จะสามารถปักหมุดพิกัดสถานประกอบการไว้ในแพลตฟอร์มนี้ ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ส่วนผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ เลือกการใช้บริการ และร้องเรียนเสนอแนะผ่านช่องทางเดียวกัน ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 23 เมษายน 2563