กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยช่วงปิดเทอมพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ผู้ปกครองจึงมักจะซื้ออาหารขนม ตุนเสบียงไว้เพื่อความสะดวกในการรับประทาน ส่งผลให้เด็กมีภาวะอ้วนโดยไม่รู้ตัว
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า พฤติกรรมการกินของเด็กในช่วงปิดเทอมได้เปลี่ยนไปเพราะเด็กอยู่กับบ้านมากขึ้นส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างเพื่อดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์มากเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีการเคลื่อนไหวหรือ ออกกำลังกายน้อยลง ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล อีกทั้งยังเลือกซื้ออาหารได้ง่ายที่อยู่ใกล้บ้านและตามใจ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม และสามารถใช้บริการส่งตรงถึงบ้าน อาหารจานด่วน ที่มีคุณค่าทางอาหารไม่มากแต่ให้พลังงานสูงทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและยังส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะพลังงานที่ใช้ไปไม่เท่ากัน ที่เหลือจะเก็บสะสมในรูปไขมัน เกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เป็นโรคอ้วนได้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษด้วยการจัดเตรียมเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลด หวาน มัน เค็ม เน้นเพิ่มผัก ผลไม้รสไม่หวานจัดใน ทุกมื้ออาหาร พร้อมทั้งให้เด็กลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่ง นอนดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือและเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรเพิ่มกิจกรรมทางกายและส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น วิ่ง กระโดดเชือก เต้นแอโรบิค เป็นต้น โดยอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย
**************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี # ปิดเทอมเด็กเสี่ยงโรคอ้วน