เตือนเกษตรกรช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งระวังเพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาวระบาด

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ถั่วฝักยาวเป็นพืชผักที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากมีรสชาติดี อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี โฟเลต ธาตุเหล็ก ดังนั้น ถั่วฝักยาวจึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอีกชนิดหนึ่ง โดยมีพื้นที่ปลูกสำคัญอยู่ในจังหวัดปทุมธานี เพชรบูรณ์ และศรีษะเกษ ในช่วงสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เกษตรกรผู้ปลูกถั่วฝักยาวมักพบการระบาดทำลายของเพลี้ยอ่อน (Aphis craccivora Koch) จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดทำลายของศัตรูดังกล่าว

ลักษณะของเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ตัวเต็มวัยสามารถขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ และออกลูกเป็นตัว ตัวอ่อนลอกคราบ 4 ครั้ง และเป็นตัวเต็มวัยภายใน 5-8 วัน ตัวเต็มวัยยาวประมาณ 1.4-1.9 มิลลิเมตร ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีท่อเล็ก ๆ 2 ท่อยื่นออกมาที่ปลายของส่วนท้อง การทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ยอดอ่อน ตาอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน ทำให้ส่วนที่ถูกทำลาย เช่น ใบอ่อนหงิกงอ ดอกร่วง ไม่ติดฝัก และหากฝักอ่อนถูกดูดกินน้ำเลี้ยงจะทำให้ฝักมีขนาดเล็กลง หากการทำลายรุนแรงจะทำให้หยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด นอกจากนี้ เพลี้ยอ่อนยังปล่อยของเหลวซึ่งเป็นน้ำตาลที่เหลือใช้ผสมกับของเสียออกมาทางช่องขับถ่ายเรียกว่า “มูลน้ำหวาน” ซึ่งเป็นอาหารของราดำ ทำให้ราดำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนปกคลุมใบและฝัก ผลผลิตจึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาว โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอเรียในตอนเย็นที่มีแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อกำจัดตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยอ่อน โดยใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 – 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบขยำเบา ๆ เพื่อให้สปอร์สีขาวออกมาอยู่ในน้ำ กรองเอาเฉพาะน้ำเชื้อ หลังจากฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียแล้ว 5-7 วัน หากพบเพลี้ยอ่อนให้ฉีดพ่นซ้ำ นอกจากนี้ การใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น การปล่อยด้วงเต่าตัวห้ำ จะช่วยกินเพลี้ยอ่อนและช่วยลดการทำลายของเพลี้ยอ่อนได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากพบการระบาดและจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลแฟน ไตรอะโซฟอส หรืออิมิดาโคลพริด อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี หรือหากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน


อัจฉรา : ข่าว, เมษายน 2563, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล, เมษายน 2563