โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เผยแพร่: 22 เม.ย. 2563 12:17 ปรับปรุง: 22 เม.ย. 2563 12:18
◽️ แนวโน้มดีวันดีคือ ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ลดเหลือ 15 ราย แต่ยังดับเพิ่ม 1 ราย พบมีโรคประจำตัวหลายโรค ยอดสะสมรวม 2,826 ราย กลับบ้านแล้ว 2,352 ราย เผย “อยุธยา” ถูกเจาะอีกรอบ มีผู้ป่วยใหม่ หลุดจังหวัดไม่มีผู้ป่วยใน 14 วัน เผยอาการปัจจัยเสี่ยงโรคโควิด-19 ที่ควรไปตรวจทันที พร้อมแจงสถานที่แออัด กทม.และต่างจังหวัดที่มีการติดเชื้อ
วันที่ 22 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวันว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 15 ราย หายป่วยกลับบ้าน 244 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,826 ราย หายกลับบ้านรวม 2,352 เสียชีวิตรวม 49 ราย ยังรักษารวม 425 ราย
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต คือ หญิงไทยอายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน เริ่มมีอาการไอ ไข เสมหะสีขาวหลือง มีน้ำมูก วันที่ 20 มี.ค. เข้ารับการรักษาใน รพ.แห่งหนึ่ง ใน กทม. วันที่ 22 มี.ค. และวันที่ 28 มี.ค. เก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อแล้วผลยืนยัน ขณะรักษาตัวก็ทรุดลง เหนื่อยหอบ ถ่ายเหลว อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตตามมา วัยที่ยังพบบ่อย คือ อายุ 20-39 ปี เป็นกลุ่มที่เป็นพาหะ จากกราฟผู้ป่วยรายใหม่ลดลง คือ ความสำเร็จในระดับหนึ่งของระหว่างทาง แต่เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะเผชิญหน้าโรคนี้กันทั่วโลก อาจทอดยาวไปอีกหลายๆ เดือน บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นปี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ได้แก่
▪️ 1.ผู้ป่วยใกล้ชิดผู้ป่วยรายก่อนหน้า 10 ราย
▪️ 2.คนไทยกลับจากต่างประเทศ 1 ราย
▪️ 3.ไปสถานที่ชุมชน 1 ราย
▪️ 4.อาชีพเสี่ยง 3 ราย ได้แก่ พนักงานขาย ขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ กทม.ยังมีผู้ป่วยสูงสุด 1,451 ภูเก็ต 193 ราย นนทบุรี 152 ราย สำหรับจังหวัดที่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย มี 14 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา ปทุมธานี นครปฐม กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น ชุมพร และพระนครศรีอยุธยา ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 14 วัน มีเพิ่ม 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา แต่ลดหายไป 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะต้องไปสอบสวนโรคว่าเกิดขึ้นจากอะไร ทำให้คงที่ 36 จังหวัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คำถามที่ว่า ถ้ามีอาการขึ้นมาควรจะรีบไปตรวจเมื่อไร หรือเราตรวจน้อยไปหรือไม่นั้น จากการค้นประวัติผู้ป่วย 542 รายจาก 2 พันกว่าราย พบว่า ตั้งแต่เริ่มมีอาการวันแรก จนวันเข้าไปตรวจหาเชื้อ ค่าเฉลี่ยคือ 4 วัน เท่ากับว่า 3 วันนั้นอาจแพร่กระจายเชื้อไปแล้ว แต่ที่มากที่สุดคือ 28 วัน ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อคนอื่นมาก อย่างไรก็ตาม หากอาการเข้าได้กับนิยามให้รีบไปตรวทันที ซึ่งเรามีการปรับนิยามสงสัยโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนทั่วไป คือ 1.มีไข้ หรืออุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับข้อ 2.มีอาการหนึ่งใดนี้ คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย/หายใจลำบาก โรคปอดอักเสบ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งในช่วง 14 วันที่ผ่านมา คือ 1.มีการเดินทางไป หรืออยู่อาศัยพื้นที่เกิดโรค 2.ประกอบอาชีพเกี่ยวนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด ติดต่อคนจำนวนมาก 3.ไปสถานที่ชุมชนหรือสถานที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้าง สถานพยาบาล 4.สัมผัสผู้ป่วยโควิดก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้ สปสช.รับผิดชอบการตรวจเรื่องนี้ให้ประชาชนทุกคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานที่แออัด ชุมชน ที่มีการติดเชื้อนั้น เพื่อวางมาตรการผ่อนปรน ที่จะเกิดเร็วๆ นี้ และตัดสินใจเชิงนโยบาย พบว่า กทม. ได้แก่ 1.สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน โรงภาพยนตร์ 2.ซูเปอร์มาร์เกต ฟิตเนส วัด ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย ร้านอาาร 3.พื้นที่่ท่องเที่ยว เช่น ซอยทองหล่อ 4.ตลาด ห้างสรรพสินค้า 5.การใช้ขนส่งสาธารณะ 6.สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล ส่วนต่างจังหวัด ได้แก่ 1สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน 2.ซูเปอร์มาร์เกต ห้าง 3.พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ 4.สถานที่ทำงาน สำนักงาน สถานพยาบาล 5.ตลาด วัด มัสยิด
https://mgronline.com/qol/detail/9630000042023