กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยโรคหัวใจดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อน หากพบมีอาการบ่งชี้ ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวายเฉียบพลัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด ซึ่งอากาศร้อนทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ไขมันอุดตัน ในเส้นเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เนื่องจากเมื่ออากาศร้อนร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำมากขึ้น และมีการขยายตัวของหลอดเลือดในร่างกาย โดยเฉพาะคนที่มีเส้นเลือดตีบตันอยู่เดิม การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมากๆ หรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงนานๆ อาจมีผลกระทบทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวายเฉียบพลันได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับโรคหน้าร้อนที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือ อาการเป็นลม ซึ่งคนปกติทั่วไปก็สามารถเป็นลมได้ เพราะร่างกาย ขาดน้ำ นอกจากนี้การอยู่ในที่มีอากาศร้อนจัดนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heat Stroke) คือ มีไข้สูง ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ ซึ่งถ้ารุนแรงมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วเป็นลม อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจโดยเฉพาะการเต้นผิดจังหวะของหัวใจอย่างฉับพลัน โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการแน่นหน้าอกหรือใจสั่นก่อนจะเป็นลม สำหรับการดูแลสุขภาพหัวใจช่วงหน้าร้อนมีดังนี้ 1. ผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับประทานยาสม่ำเสมอ 2. ควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ 3. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน 4. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือรสจัด 5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละประมาณ 30 นาที ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการแน่นหน้าอก มีเหงื่อออกใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยจุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย
#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคทรวงอก #โรคหัวใจ
22 เมษายน 2563