สนพ. คาดการณ์ เม.ย. ราคาน้ำมันยังลงต่อเนื่อง แม้กลุ่ม OPEC และพันธมิตรจะร่วมลดปริมาณการผลิต ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 โดยความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วง วันที่ 13 – 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่าราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสรุปประเด็นสำคัญๆ คือ

ราคาน้ำมันโลก: ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส  ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $20.78 และ $20.11 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $3.38 และ $4.28 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

  • ตลาดยังมีความกังวลต่ออุปทานที่ล้นตลาดจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง แม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 63 แล้วก็ตาม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน มี.ค. 63 ลดลง 6.6% YoY อยู่ที่ 11.78 ล้านบาร์เรล/วัน
  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจลดลงถึง 29 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน เม.ย. 63 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และลดลง 9.3 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลัง 187 ประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 10 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการผลิตตามความต้องการใช้น้ำมันที่หดตัว

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย

น้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $19.98 และ $19.05 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $1.79 และ $2.22 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

  • ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.2% สูงที่สุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากความต้องการใช้ปรับตัวลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • โรงกลั่นในอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นราว 40,000 – 50,000 บาร์เรล ในเดือน เม.ย. เนื่องจากความต้องการใช้ในอินเดียปรับลดลง หลังการประกาศปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ
    ไวรัสโควิด-19
  • Insights Global รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 1.06 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.87 ล้านบาร์เรล
  • EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 246.8 ล้านบาร์เรล

น้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $32.96 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $3.71 ต่อบาร์เรล

  • ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีกหลังอินเดียและมาเลเซียขยายระยะเวลาในการปิดเมืองไปจนถึงต้นเดือน พ.ค. 63 เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  • International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 2.51 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.93 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
  • Insights Global รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.41 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.57 ล้านบาร์เรล

อัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.14 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.8370 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.39 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.80 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.13 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.78 บาท/ลิตร

ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 20 เมษายน 2563)

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

  • ณ วันที่ 19 เม.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 57,216 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 21,258 ล้านบาท
  • ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 35,958 ล้านบาท แยกเป็น
    • บัญชีน้ำมัน 41,740  ล้านบาท
    • บัญชี LPG -5,782  ล้านบาท

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัว หลังรัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และประเทศในทวีปยุโรป ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ซาอุฯ เองยังประกาศลดราคาขายน้ำมัน (Official selling price) ของตนเองลงต่อเนื่อง ทั้งยังประกาศว่าการลดกำลังการผลิตจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ส่งผลให้อาจมีอุปทานน้ำมันดิบในระดับสูงจากซาอุฯ ที่จะเข้ามาในตลาดในเดือนดังกล่าว โดยมีปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ดังนี้

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ที่ทำให้มีการปิดเมืองส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • มุมมองของนักลงทุนในตลาดที่มองว่า แม้กลุ่ม OPEC และพันธมิตรจะร่วมลดปริมาณการผลิตในเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 แต่อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยอุปสงค์ที่หายไปได้