การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.17 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการกลับมาขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 17.59 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผลของสงครามการค้าเบาบางลง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทองคำ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโซลาร์เซลล์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย และอาหารสัตว์เลี้ยง ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 8.12 ของการส่งออกในเดือนมีนาคม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 2.12 ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.91 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกไทยไตรมาสแรกขยายตัวที่ร้อยละ 1.06
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.17 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 20,813 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.25 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 62,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.91 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 58,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.92 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2563 การค้าเกินดุล 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 693,353 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.21 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 653,096 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.32 ส่งผลให้การค้า เกินดุล 40,257 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 1,903,157 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.98 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 1,808,691 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.90 ส่งผลให้ไตรมาสแรก ปี 2563 การค้าเกินดุล 94,466 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 1.1 (YoY) สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวที่ร้อยละ 17.5 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ซูดาน มาเลเซีย และสิงคโปร์) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 10.9 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง รัสเซีย ออสเตรเลีย ไต้หวัน และมาเลเซีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวที่ร้อยละ 11.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และอินเดีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 24.7 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล และสเปน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาด สหรัฐฯ ตุรกี และไต้หวัน) ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 13.2 (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน และแคนาดา แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ แองโกลา โมซัมบิก แอฟริกาใต้ โกตดิวัวร์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 13.1 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในเกาหลีใต้ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และบังกลาเทศ) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวที่ร้อยละ -6.0 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และลิเบีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล เยเมน และกัมพูชา) ไตรมาส 1 ของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 3.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.4 (YoY) สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ ขยายเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 215.2 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ญี่ปุ่น และไต้หวัน) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 1,129.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฮ่องกง ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เม็กซิโก เยอรมนี สิงคโปร์ และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวที่ร้อยละ 29.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สเปน และสิงคโปร์) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 1,263.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น กัมพูชา คิวบา และเมียนมา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 28.7 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวที่ร้อยละ 17.4 (หดตัวแทบทุกตลาดในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสิงคโปร์) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 25.3 (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดฮ่องกง ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินโดนีเซีย) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวที่ร้อยละ 4.3 (หดตัวในหลายตลาด เช่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ เยอรมนี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน) ไตรมาส 1 ของ
ปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.9
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังสามารถขยายตัวในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ อาเซียน (5) กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) และทวีปออสเตรเลีย (25) รายละเอียด ดังนี้ 1) การส่งออกไปตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.1 ตามการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 42.9 ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 14.8 ตามลำดับ 2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวร้อยละ 3.6 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 6.8 (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) และการส่งออกไปตลาด CLMV ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.9 ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนและเอเชียใต้หดตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 24.4 ตามลำดับ และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวที่ร้อยละ 6.2 โดยการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง (15) กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 9.7 ส่วนตลาดลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS และทวีปแอฟริกาหดตัวร้อยละ 7.9 ร้อยละ 12.1 และร้อยละ 18.4 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.7
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 42.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งคืนยานพาหนะและอาวุธในการซ้อมรบกลับสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากหักรายการดังกล่าวออก การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวร้อยละ 19.5 สำหรับสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องปรับอากาศฯ และข้าว เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 2.7
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 4.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และยางพารา ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 0.9
ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 14.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 4.6
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 2.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.5
ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ร้อยละ 6.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 5.7
ตลาด CLMV ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ร้อยละ 2.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ น้ำตาลทราย อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.7
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 24.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และปูนซิเมนต์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผ้าผืน เครื่องยนต์สันดาปฯ และตู้เย็นและส่วนประกอบฯ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.6
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 7.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องจักรกลฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.1
ตลาดตะวันออกกลาง (15) กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ร้อยละ 9.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 1.7
ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) ขยายตัวร้อยละ 5.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยานและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ข้าว และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.1
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 12.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และ ผลิตภัณฑ์ยาง ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เครื่องจักรกลฯ และแผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 9.3
ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 18.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลแปรรูปฯ และเครื่องยนต์สันดาปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 17.0
ตลาดอินเดีย หดตัวร้อยละ 26.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปฯ และอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.7
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผลของสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโดยภาพรวมกลับมาฟื้นตัว และทำให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ความต้องการสินค้าอาหารในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น เป็นโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย 2) การฟื้นตัวของประเทศที่ผ่านพ้นการระบาด โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบภายในสิ้นเดือนเมษายน จะทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยที่เป็นซัพพลายเชนของจีนมีความต่อเนื่องมากขึ้น และ 3) ค่าเงินบาทไทยที่ยังอ่อนค่าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง
สำหรับ การส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขสถานการณ์การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้สั่งการให้สำนักงานทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ต่างประเทศ จำนวน 58 แห่งทั่วโลก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการส่งออก หรือ Online export clinic การหาช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าไทย และการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรือ Online business matching เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออก ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการขยายตลาดส่งออกในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางและการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยคลายความกังวลในการหาตลาดส่งออกในระยะต่อไป
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
21 เมษายน 2563