เกษตรกรอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังขาย พร้อมชื่นชมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำปาว ทำให้สามารถทำนาปรังได้เต็มศักยภาพ ทั้งมั่นใจว่าเขื่อนลำปาวจะวางแผนรับน้ำในฤดูฝนที่จะมาเยือนอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า ปัจจุบัน (20 เม.ย. 63) เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 705 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ (ความจุอ่างฯสูงสุด 1,980 ล้าน ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้ประมาณ 605 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละประมาณ 2.7 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนลำปาวได้รับประโยชน์จากอิทธิพลของพายุ“โพดุล” ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นถึง 1,742 ล้าน ลบ.ม. ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว สามารถวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62/63 ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการทำนาปรังของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ โครงการฯลำปาว ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสามารถสูบน้ำย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภคให้กับการประปาทั้ง 39 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ทั้งยังช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างตั้งแต่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย
ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้วางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62/63 โดยการบริหารจัดการน้ำสำหรับทุกกิจกรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ส่งผลให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาว สามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งนาข้าว พืชผัก และการประมงได้มากกว่า 300,000 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 250,000 ไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อนำไปจำหน่ายแล้ว ซึ่งปีนี้ราคาข้าวค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายข้าวได้พอสมควร และบางส่วนเริ่มนำไปลงทุนไถเตรียมแปลง เพื่อเริ่มทำนาปีในฤดูฝนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ประกาศหยุดส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 แล้ว โดยจะทยอยลดการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 13 – 22 เมษายน 2563 จากนั้นจะปิดการรับน้ำเข้าคลองชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าว พร้อมกับดำเนินการซ่อมแซม บำรุงรักษา ปรับปรุงคลอง และอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในฤดูช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมกันนี้ ยังได้แจ้งแผนการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งน้ำในช่วงฤดูฝนได้ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
20 เมษายน 2563