กระทรวง พม.จับมือกรมอนามัยเปิดศูนย์สู้ภัย Covid นำร่อง 286 ชุมชนใน กทม. ด้าน พอช.พักหนี้บ้านมั่นคง 3 เดือน-มอบงบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง 72 ล้านบาท

เขตวังทองหลาง / รมว.พม. Kick off  โครงการ สำรวจให้พบ  จบที่ชุมชนนำร่อง 286 ชุมชนใน กทม.  โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมอนามัย  จัดตั้งศูนย์ชุมชนสู้ภัย Covid-19  ให้ความรู้การป้องกันโรคโควิด-19  สนับสนุนครัวกลางชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  ระยะเวลาดำเนินการ 10 วัน  เริ่ม 20-30 เมษายนนี้   ขณะที่ พอช.หนุนชุมชนสู้ภัยเศรษฐกิจจากพิษโควิดพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ 3 เดือน และสนับสนุนงบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองและชนบท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. ได้แต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน  แก้ไข  และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) ในชุมชน หรือ คปค. ชุมชน  โดยร่วมมือกับกรมอนามัย  ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” ในพื้นที่นำร่อง 286 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  โดยจะมีการแบ่งทีมงานลงพื้นที่  7 ทีมๆ  ละ 4 ชุมชนต่อวัน   เริ่มตั้งแต่วันที่ 20-30 เมษายนนี้

รมว.พม.เปิดศูนย์ประสานงานสู้ภัยโควิด-19 แห่งแรกที่วังทองหลาง

โดยในวันนี้ (19 เมษายน)  เวลา 10.00 น. นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมหรือ Kick off  โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” ที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา   เขตวังทองหลาง   กรุงเทพฯ  เป็นชุมชนแรก  โดยมี พญ.พรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย  นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้แทนชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลางจำนวน  20  ชุมชนเข้าร่วมงาน

โดย รมว.พม.เป็นประธานในการเปิด ศูนย์ประสานงานวังทองหลางรวมใจสู้ภัย COVID-19’  เพื่อใช้เป็นศูนย์ประสานงานในเขตวังทองหลางซึ่งมีเครือข่ายชุมชนจำนวน 20 ชุมชน    การเปิดกิจกรรมหรือ Kick off โครงการ พักหนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศระยะเวลา 3  เดือน  มอบงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมือง  รวม 300   เมือง  งบประมาณรวม  72 ล้านบาท   มอบงบประมาณสนับสนุนการจัดทำครัวกลางจำนวน 300,000 บาท  นอกจากนี้ยังมอบเมล็ดพันธุ์ผักและพันธุ์ปลาให้แก่ผู้แทนชุมชนด้วย

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.กล่าวว่า  โครงการ ‘พม.ไม่ทิ้งกัน’ เป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาลในการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19  โดยกระทรวง พม.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับกรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข  เริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน  เนื่องจากเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น   โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนของการเคหะแห่งชาติ  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   โดยกระทรวง พม.จะร่วมกับกรมอนามัยลงไปในพื้นที่ชุมชนต่างๆ รวม  286 ชุมชน  เพื่อป้องกันโรค COVID  และรับฟังปัญหาของประชาชน

“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้อง  จะไม่ปล่อยให้คนไทยตายโดยไม่ได้ป้องกัน  รัฐบาลจึงต้องเอาเงินจากทุกกระทรวงมาช่วยเหลือประชาชนก่อน  นอกจากนี้ยังมีการพักชำระหนี้  การนำอาหารไปให้ชุมชน  หรือไปช่วยเหลือตามความต้องการของชุมชนว่าต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง  และเงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือสิ่งของจากภาคเอกชนจะลงไปให้ถึงมือของประชาชนทุกคน   ขณะเดียวกันประชาชนก็จะต้องร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับโควิด  และต้องเตรียมความพร้อม  ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ  เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค  ถ้าเร็วที่สุดอาจจะเป็นต้นปีหน้าที่จะผลิตวัคซีนออกมาได้  ดังนั้นจึงต้องรักษาชีวิต  รักษาครอบครัวเอาไว้ก่อน  เพราะชีวิตคนสำคัญที่สุด”  รมว.พม.กล่าว

พญ.พรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า  ในช่วง 10   วันนี้กรมอนามัยจะลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ร่วมกับกระทรวง พม. เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 โดยนำอุปกรณ์การล้างมือไปให้ชุมชน  สอนการล้างมืออย่างถูกต้อง  7 ขั้นตอนเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ   การใช้หน้ากากอนามัย  ฯลฯ   และต้องทำอย่างต่อเนื่องระยะยาว

“และที่สำคัญก็คือการเว้นระยะห่าง  เพื่อให้ห่างจากเชื้อโรค  เพราะเชื้อโรคไปไหนไม่ได้  หากเราไม่พาไป  ซึ่งกรมอนามัยจะเข้าไปดูในชุมชนต่างๆ  ว่าจะออกแบบระยะห่างได้อย่างไร  และทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ทุกคน  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนในครอบครัว  ดังนั้นคนในครอบครัวที่ออกไปข้างนอกจะต้องระมัดระวังไม่ให้นำเชื้อเข้ามา  โดยจะต้องร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมในการป้องกันโรค”  อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

แผนชุมชนเครือข่ายวังทองหลางสู้ภัย COVID

นายสมบูรณ์  จันทร์ชัย   ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  กล่าวว่า  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิกทั้งหมด 20 ชุมชน  ประมาณ 5,200 ครอบครัว  และมีผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  ต้องตกงาน  หรือมีรายได้น้อยลง  เช่น  วินมอเตอร์ไซค์  ขับรถแท็กซี่  ฯลฯ  ประมาณ 3,000  คน  ซึ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นี้  เครือข่ายฯ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นมา  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องในด้านต่างๆ  รวมทั้งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค  โดยมีแผนต่างๆ ดังนี้

1.แผนระยะสั้น  เช่น   สำรวจข้อมูลกลุ่มผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ในระดับชุมชน  ส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนมีความรู้เท่าทัน  เข้าถึงระบบการดูแลจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง  ประสานงานจัดหาเครื่องมือป้องกันโรคจากภาคีทุกภาคส่วน   การเตรียมและแจกข้าวสารอาหารแห้ง  การจัดทำครัวกลาง (เดือนละ 2 ครั้ง)  เตรียมพื้นที่รองรับและช่วยเหลือกลุ่มผู้เดือดร้อน พร้อมฝึกอบรมการจัดทำเจลล้างมือ  หน้ากากอนามัยให้กับผู้แทนชุมชนแต่ละชุมชน

 2.แผนระยะกลาง  ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวในระดับครัวเรือน  และพื้นที่ส่วนกลาง   มีแปลงปลูกผักขนาด  400 ตารางวา  (อีก 15 วันเก็บเกี่ยวได้)  และบ่อเลี้ยงปลา  โดยจะพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหารในระดับชุมชนและเมือง  สามารถเป็นแหล่งสร้างงาน  สร้างรายได้ให้กับผู้ที่ตกงานหรือได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

3.แผนระยะยาว มีการเชื่อมโยงระบบกองทุนระดับเมือง  มีกองทุนสวัสดิการชุมชน  สถาบันการเงินชุมชน ฯลฯ เพื่อให้เกิดทุนภายในการแก้ปัญหาของชุมชนด้านต่างๆ   รวมถึงการพัฒนาศูนย์ประสานงานของเครือข่ายชุมชนในเมืองให้เกิดการประสานงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีอย่างเป็นระบบ   นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ถือเป็นชุมชนนำร่องที่จัดทำโครงการ ชุมชนปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน   มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การประกาศเป็นชุมชนปลอดภัยห่างไกลโควิด-19  ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   มีการปลูกผักสวนครัว  เลี้ยงปลา  สร้างครัวกลาง  ฯลฯ

พอช.หนุนชุมชนสู้ภัยเศรษฐกิจพักหนี้บ้านมั่นคง 3 เดือน

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส   รัฐบาลมีมาตรการปิดสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค  เช่น  ห้างสรรพสินค้า  สถานบริการต่างๆ  ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ  ต้องปิดงาน  ขาดรายได้  ฯลฯ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงมีมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจาก พอช.  โดยไม่ต้องชำระเงินต้น  ดอกเบี้ย  และไม่คิดดอกเบี้ยในระยะเวลา 3 เดือน   เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้   โดยมีองค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อประมาณ 500 องค์กรทั่วประเทศ  มีสมาชิกประมาณ 50,000 ครัวเรือน   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’  วงเงินดอกเบี้ยที่ลดลงรวมประมาณ 42 ล้านบาท   ซึ่งชุมชนรุ่งมณีพัฒนาก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับการพักชำระหนี้ด้วย

สำหรับเครือข่ายชุมชนเขตวังทองหลาง  มีโครงการบ้านมั่นคงที่ขอพักชำระหนี้ 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) กับสถาบันฯ  จำนวน 4 องค์กร  คือ  1.สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนรุ่งมณี จำกัด   2.กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนทรัพย์สินเก่า  3.กลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชุมชนน้อมเกล้า และ 4. กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนร่วมสามัคคี  มีสมาชิกรวมทั้งหมด  390 ราย ยอดเงินต้นคงเหลือรวมทั้งสิ้น 1,629,480 บาท

โครงการ ‘บ้านมั่นคง’  เป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  โดยชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน   เช่น  เช่าที่ดิน  ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของรัฐหรือเอกชน  รวมตัวกันแก้ไขปัญหาและบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์  โดยการซื้อที่ดินหรือเช่าอย่างถูกต้อง  หรือปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม  เพื่อให้มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย

โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อระยะยาวให้แก่กลุ่ม  องค์กร  หรือสหกรณ์ที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  แล้วผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนให้แก่ พอช.  เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม  1,231 โครงการ  จำนวน  112,777 ครัวเรือน  ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมอาชีพ  ปลูกผักสวนครัว  กิจกรรมเด็ก  การจัดการขยะ  บำบัดน้ำเสีย  การดูแลสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ

สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง 72 ล้านบาท และเปิดตลาดขายสินค้าชุมชนทางออนไลน์

นายสมชาติกล่าวด้วยว่า  นอกจากนี้ พอช.ยังมี โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด งบประมาณรวม 144 ล้านบาท   แยกเป็นชุมชนเมือง 72 ล้านบาท  และชนบท 72 ล้านบาท  เฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง  มีเป้าหมายเครือข่ายชุมชนเมือง 317 เครือข่าย/เมือง  รวมทั้งชุมชนเดี่ยวที่ยังไม่มีเครือข่าย  เครือข่ายชุมชนริมคลอง  เครือข่ายสลัมสี่ภาค  และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน 5 ศูนย์

“โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณโครงการละ 30,000 – 300,000 บาท  เน้นเครือข่ายชุมชน  ทั้งที่ทำโครงการบ้านมั่นคงและชุมชนรายได้น้อยอื่นๆ ในเมือง  เพื่อให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกัน   มีการสำรวจข้อมูลชุมชน  วางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งกรณีเฉพาะหน้า และระยะยาว  เช่น  การทำครัวกลาง  จัดเตรียมข้าวสาร  อาหารแห้ง   การปลูกผักสวนครัว  การปรับหรือพัฒนาทักษะอาชีพ  การจัดตั้งหรือฟื้นฟูกองทุนชุมชน  การเชื่อมโยงสินค้าชนบทสู่เมือง”  ผอ.พอช.ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง

นอกจากนี้ พอช.ได้เปิดตลาดนัดออนไลน์เพื่อให้พี่น้ององค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาขายสินค้าทางออนไลน์ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ  และเกษตรกรบางกลุ่มมีปัญหาส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศไม่ได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19   โดยใช้ facebook  ตลาดนัดองค์กรชุมชน  มีสินค้าจากเหนือจรดใต้  เช่น  ปลาแห้ง  ส้มไข่ปลาจากลุ่มน้ำโขง จ.บึงกาฬ  ก๋วยจั๊บสำเร็จรูปจาก จ.อำนาจเจริญ  มะม่วงสุกมหาชนกจาก จ.กาฬสินธุ์  มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจาก จ.พิษณุโลก

ข้าวสาร  อาหารแห้ง  จาก ต.หนองสาหร่าย  จ.กาญจนบุรี   ปลาเค็มจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก  จ.ระยอง  น้ำบูดูสายบุรี  จ.ปัตตานี   ผักและผลไม้ปลอดสารเคมีจากสหกรณ์การเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี   สินค้าชุมชนจาก อ.หนองม่วง  จ.ลพบุรี   และอื่นๆ อีกมากมาย   ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ที่ facebook  ตลาดนัดองค์กรชุมชน  และสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรง

***************