“สระจิ๋ว” เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำเกษตรกรรม … ช่วงแล้งจัดและฝนทิ้งช่วง

เพื่อเป็นการบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพ การเก็บกักน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกร รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ ปี 2563 (เพิ่มเติม) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด ๑,๒๖๐ ลบ.ม. (สระจิ๋ว) เพิ่มอีกจำนวน  4,900 บ่อ

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “เนื่องจาก ปีงบประมาณ 2563 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน จัดทำ “โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน” โดยการขุดสระน้ำในไร่นา หรือ “สระจิ๋ว” ขนาด ๑,๒๖๐ ลบ.ม. จำนวน  40,000 บ่อ  เป็นการบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายสมทบ 2,500 บาท/บ่อ ไปแล้วนั้น  ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานได้รับการตอบรับจากเกษตรในพื้นที่เป็นอย่างมาก มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั้งประเทศ  และในปีนี้มีสภาพอากาศที่แล้งจัด ประกอบกับฝนทิ้งช่วง เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่มีน้ำใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม  ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้ขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล ราว 71,520,000 บาท และขอใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี 2563 อีกประมาณ 16,092,000 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปี 2563 (เพิ่มเติม) อีกจำนวน 4,900 บ่อ เพื่อเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานได้มีแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาในบ่อ สร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร และน้ำจากบ่อยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงวัวที่เกษตรกรเลี้ยงไว้บริโภคอีกด้วย”

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินในสังกัดทั่วประเทศ ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ขยายผลการปฏิบัติสู่เกษตรกรและประชาชน ในการร่วมกันรักษาและพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้เกษตรกรและประชนทั่วไป ได้ใช้ทรัพยากรดินและทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น เพื่อช่วยกันบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้  หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ  เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้เป็นส่วนมาก เนื่องจากเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการคัดเลือกพื้นที่ เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินประชุมชี้แจงเกษตรกรก่อนดำเนินการ ทำให้พื้นที่เกษตรกรมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและใช้น้ำเต็มประสิทธิภาพ

………………………………………………………………………..