นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม
ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และคณะผู้บริหาร โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการ อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ การประชาสัมพันธ์ และรับรองคุณสมบัติเบื้องต้นของกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ไปแล้วนั้น
“เพื่อให้โครงการฯ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ในวันนี้จึงได้ลงพื้นที่เพื่อดูแหล่งผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ หรือ feed center ในแต่ละจังหวัด เพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ รองรับการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์ในโครงการฯ และลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยเบื้องต้นได้เลือก จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ มีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 8,931,032 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจ 3 อันดับแรก คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้ง เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมด้านปศุสัตว์ โดยเน้นย้ำกรมปศุสัตว์สนับสนุนให้เกษตรกรที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ได้มีอาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว” นายประภัตร กล่าว
สำหรับวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ ก่อตั้งเมื่อเดือน มี.ค. 60 วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมให้มีคุณภาพมาตรฐานและครบวงจร รวมทั้งผลิตอาหารสัตว์จำหน่าย และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยที่มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 37 ราย มีแม่โคพื้นฐานจำนวน 412 ตัว โคขุนจำนวน 198 ตัว รวม 600 ตัวโดยเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ รองรับการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ผลิต คือ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตและมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยมีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 จำนวนกว่าพันไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 500 ไร่
จากการสอบถามเกษตรกร ทราบว่า แปลงหญ้าดังกล่าวได้รับประโยชน์จากโรงงานแป้งมันที่ตั้งอยู่ข้างเคียงสนับสนุนในการจัดทำระบบส่งน้ำเสียจากโรงงานซึ่งกลายเป็น “ปุ๋ยน้ำชั้นยอด” สำหรับการผลิตหญ้าของเกษตรกร โดยไม่คิดมูลค่า ทำให้โรงงานไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนอันเนื่องมาจากน้ำเสียเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นช่องทางในการสร้างงาน/อาชีพใหม่ที่มั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบที่ดีในการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วน เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการผลักดันของกรมปศุสัตว์ ภายใต้ชื่อ “DLD Model”
“กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายสนับสนุนแนวทางเช่นนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะนี่คือโอกาสของประเทศ เราจะใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นอาชีพ ปรับความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงของชุมชน ของชาติต่อไป” นายประภัตร กล่าว