ผอ SACICT ห่วงภัยแล้งมาเยือน ลุยช่วยชาวบ้านทำหน้ากากทางเลือกสู้ภัยโควิด จับมือภาคเอกชน พร้อมชวนคนไทยอุดหนุน “หน้ากากจากหัวใจชุมชน”

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ลงพื้นที่ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งซึ่งไม่สามารถทำการเกษตรได้ รวมทั้งแรงงานที่กลับภูมิลำเนาและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หันมาผลิตหน้ากากทางเลือก ชูจุดขายทำด้วยผ้าเส้นใยธรรมชาติ และผ้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถมาตัดเย็บ มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า หน้ากากทางเลือกหรือหน้ากากผ้ามีคุณสมบัติเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการช่วยลดการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงและบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะการต่อยอดด้านการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าภายใต้ชื่อโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” แก่ประชาชนในชุมชนที่มีความเสี่ยงของการประสบปัญหาภัยแล้งที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ร่วมด้วยการประกอบสัมมาอาชีพของประชาชนในพื้นที่เองต่างประสบความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้ เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินทำให้ประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัย เอื้อให้สามารถใช้เวลาว่างมาทำงานศิลปหัตถกรรมที่บ้าน เช่น หน้ากากทางเลือกเพื่อเพิ่มพูนรายได้

“หน้ากากผ้าจากโครงการนี้ออกแบบตัดเย็บด้วยฝีมืออันละเอียดประณีตของครูช่างศิลปหัตถกรรมและชุมชนหัตถกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ ชาวบ้านกลุ่มนี้มีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ  โดยขณะนี้มีชาวบ้านร่วมในโครงการจำนวนกว่า 200 ราย ในกว่า 85 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำที่บ้านของตนเองโดยไม่มีการรวมกลุ่ม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ชิ้นต่อเดือนโดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 8,000-12,000 บาท สำหรับจุดเด่นที่ทำให้หน้ากากผ้าของชุมชนนี้มีความพิเศษเป็นที่ถูกใจตลาด เพราะนำผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของหน้ากาก ร่วมด้วยการออกแบบตัดเย็บกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ นำมาซักทำความสะอาดอย่างดีเพื่อตัดเย็บเป็นหน้ากาก 2 ชั้น มีช่องสำหรับใส่ Filter เพิ่มได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก จึงสวมใส่สบาย โดยมีข้อแนะนำซักก่อนใช้งานและทุกครั้งหลังสวมใส่แล้ว ทั้งนี้หน้ากากผ้านำไปซักและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ยังช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งอันจะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง”

“SACICT ได้เร่งขยายโครงการไปยังชุมชนหัตถกรรมรวม 38 ชุมชนทั่วประเทศโดยตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 500,000 ชิ้น สำหรับหน้ากากแห่งความสุขนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน ผมจึงอยากขอความร่วมมือไปยังภาคประชาสังคม บริษัทห้างร้าน ภาคเอกชนและเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้หน้ากากทางเลือกเพื่อกิจกรรม CSR หากสนใจสามารถแจ้งความประสงค์มายัง SACICT ได้เพื่อร่วมสนับสนุนช่วยต่อลมหายใจให้แก่ชาวบ้านและผู้คนที่กำลังเดือนร้อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยที่ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่คนไทยไม่ทิ้งกัน หน้ากากในมือคุณชิ้นนี้ได้ช่วยให้อีกหลายครอบครัวในพื้นที่ห่างไกล ได้มีความสุข ให้พวกเขาได้มีรอยยิ้มจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีมื้ออาหารที่อิ่มท้อง เด็กๆได้มีอนาคตสดใส คนชราได้รับการดูแล คนพิการได้รู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง โดยท่านสามารถร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ด้วยการสั่งซื้อหน้ากากแห่งความสุขนี้ได้ที่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง 092-3254655 หรือสั่งซื้อได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอพลิเคชั่น SACICT Shop ทั้งระบบ IOS และ Android สอบถามเพิ่มเติม 1289” ผู้อำนวยการ SACICT กล่าวทิ้งท้าย