ชาวบ้านนครสวรรค์ 10 กว่าตำบล ร่วมพูดคุยจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ วางกติกาการอยู่ร่วมกัน การป้องกัน และการช่วยเหลือกันในช่วงการระบาดของโควิด19 ขณะที่สมัชชาสุขภาพจังหวัดเตรียมวางแผนรับมือด้านเศรษฐกิจชุมชนหลังสถานการณ์คลี่คลาย
ขณะที่หน่วยงานส่วนกลางกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ประชาชนก็ให้ความร่วมมือด้วยการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ในเวลาเดียวกันชุมชนต่างๆ ก็เข้ามาหนุนเสริมการทำงานภาครัฐอย่างแข็งขัน ดังตัวอย่างของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์
นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 3 และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์กล่าวถึงบทบาทของพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาโควิด19 ว่า งานด้านสุขภาพเป็นสิ่งทำเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องจับมือกับเครือข่ายอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการสานพลังของภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมให้มาทำงานร่วมกัน
“ที่นครสวรรค์ เราทำงานร่วมกัน 5 หน่วยงานคือ สช. สปสช. สาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ลงไปถึงตำบล โดยมี รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) เป็นกลไกขับเคลื่อน อีกส่วนคือ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่มีการจัดตั้งหน่วยจัดการ สสส. ระดับจังหวัด และยังมี พอช. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่มีกลไกในพื้นที่ 2 ส่วนคือสภาองค์กรชุมชนกับกองทุนสวัสดิการชุมชน เข้ามาทำงานร่วมกันผ่านแนวคิดการสานพลังบูรณาการร่วมกัน ในระดับจังหวัดมี Think Tank คุยกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าจะเสริม สาน และสร้างอะไรต่อ ซึ่งจริงๆ เราทำงานในลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว”นายวิสุทธิกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยต้นทุนในพื้นที่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว การเชื่อมประสานให้เกิดการพูดคุยจึงเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว จนขณะนี้มีกว่า 10 ตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ที่นำแนวคิด ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ไปใช้เพื่อวางกติกาของชุมชน ช่วยให้ชาวบ้าน แกนนำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น มีความเข้าใจตรงกันถึงแนวปฏิบัติในการรับมือโควิด19 และในบางพื้นก็มีการร่างธรรมนูญสุขภาพลงไปถึงระดับหมู่บ้าน
นายวิสุทธิยกตัวอย่างตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ ที่มีการรวมตัวของคนในพื้นที่เพื่อตกลงกันเรื่องกติกาจนที่ประชุมเห็นชอบและประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพร่วมกัน “ชาวบ้านหนองกรดจะมีระบบคือ ถ้ามีคนมาจากต่างถิ่นจะต้องทำการกักตัว มีคนไปเยี่ยม หาข้าวปลาอาหารไปให้ เพราะในบางพื้นที่อาจเกิดการรังเกียจกัน จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้คนมองร่วมกันให้ได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งในชุมชน กติกาที่สร้างขึ้นทำให้อยู่เป็นเพื่อน เป็นญาติกันได้
ในงานศพก็จะมีกติกา เช่น คนไปร่วมงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิทุกคน มีเจลล้างมือบริการ อาหารต้องเป็นอาหารจานเดียว จัดโต๊ะ เก้าอี้ให้มีระยะห่าง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน เวลาเผาก็ไม่ควรเปิดโลงศพ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับทราบร่วมกัน ผมถือว่าชาวบ้านตื่นตัว มีส่วนช่วยสังคม ลุกขึ้นมาทำด้วยตนเอง ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่เราเข้าไปหนุนเสริม” วิสุทธิกล่าว
นอกจากนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ยังวางแผนการจัดสมัชชาจังหวัดในประเด็นการขับเคลื่อนให้ประชาชนตื่นรู้ภัยโควิด19 หลังสถานการณ์ทุเลาลง ทุกคนจะอยู่ในสังคมอย่างไร แม้ว่ามาตรการรัฐด้านสุขภาพจะมาถูกทางแล้ว แต่ในมิติเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนยังมีความวิตกกังวล
“เราผลักดันประเด็นอาหารปลอดภัยที่ผ่านมาเราสร้างพื้นที่หลายแห่งให้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากสารเคมีเป็นอินทรีย์หรือการใช้สารทดแทนเมื่อสถานการณ์ผ่านไปเราก็ต้องรื้อฟื้นกลับมาทำต่อ เพราะจะเป็นทุนสำคัญให้คนในชุมชนอยู่รอดได้แม้เศรษฐกิจภายนอกจะแย่แต่พื้นที่ยังต้องมีกิน”นายวิสุทธิกล่าว
ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์มองในเชิงบวกว่า หลังทุกอย่างคลี่คลาย พฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เขายังเชื่อมั่นอีกว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้และจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับรับมือวิกฤตในอนาคต“ผมคิดว่าผลลัพธ์สำคัญเกิดจากฐานชุมชนเข้มแข็ง พลังชุมชนที่ช่วยกันดูแลมันเกิดขึ้น ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ บทเรียนนี้สำคัญ ในอนาคตบทเรียนโควิดจะเป็นตัวแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ”