ตามที่มีรายงานข่าวกรณีโฆษกพรรคการเมืองหนึ่งแสดงความข้องใจต่อบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19โดยตั้งข้อสงสัยว่า กสม. ได้ดำเนินการใด เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวบ้าง นอกจากการออกแถลงการณ์สั้น ๆ ที่แสดงความห่วงใยและข่าวแจกของประธาน กสม. ซึ่งแทบไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น โดยให้ข้อเสนอแนะว่า กสม. ควรระดมเจ้าหน้าที่และองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนลงไปรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะมาตรการให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
สำนักงาน กสม. ขอชี้แจงว่า กสม. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมา กสม. ได้ออกแถลงการณ์ กสม. เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 และ 23 มีนาคม 2563 ตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรที่มีกลไกร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรค ให้การดูแลเยียวยาเป็นพิเศษแก่ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเปราะบาง และให้รัฐบาลพึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการนำยุทธการปิดเมือง (Lockdown) มาใช้ในพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนด
หลังจากนั้น ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเป็นระยะเมื่อเห็นว่ายังอาจมีประเด็นที่จะทำให้สิทธิในชีวิตและสุขภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้ให้ข้อแนะนำทั้งต่อภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง ประธาน กสม. ขอให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อรอยารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 เรื่อง ประธาน กสม. ชี้ รัฐพึงคัดกรองผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว นอกเหนือจากการเว้นระยะห่างระหว่างกัน เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 และเรื่อง ประธาน กสม. วอนให้รัฐคัดกรองคนก่อนให้ไปอยู่ในอาคารในพื้นที่ควบคุมโดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว และไม่ควรให้อยู่ในห้องพักเดียวกันเกิน 1 คน เว้นแต่เป็นคนใกล้ชิดกัน เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งหลายกรณี รัฐได้ปรับปรุงแนวทางหรือมาตรการการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะแล้ว เช่น การให้บุคคลที่กลับมาจากต่างประเทศได้เข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐ (state quarantine) เป็นระยะเวลา 14 วัน ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีการติดตาม สัมภาษณ์องค์กรเครือข่ายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ได้แก่ กลุ่มเด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนพิการ คนสูงอายุทั้งที่เป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งหรืออยู่คนเดียว กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐไร้สัญชาติ พร้อมแนวทางในการแก้ปัญหาแต่ละกลุ่ม รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ เช่น การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข สิทธิของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น ตลอดจนรวบรวมการดำเนินการของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเทศต่าง ๆ และข้อแนะนำจากกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบกับได้ให้ภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้จดแจ้งไว้กับสำนักงาน กสม. และสถาบันอุดมศึกษาที่ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับสำนักงาน กสม. ส่งข้อมูลและความเห็นในการแก้ไขปัญหาให้สำนักงาน กสม. ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดสำนักงาน กสม. จะนำมาประมวลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ต่อไป ในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ฯพณฯ นาย Othman Bin Hashim ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซีย (SUHAKAM) ได้มีหนังสือแสดงความชื่นชมมายัง กสม. ที่ได้พยายามสนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วย
จึงขอเรียนย้ำว่า กสม. มีความห่วงใยและตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้ และได้พยายามรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ มาประกอบการดำเนินการ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
14 เมษายน 2563