“ถ้าเชื้อยังไม่หยุด เราก็ยังไม่ถอย ร่วมกันสู้ต่อไป คนไทยไม่ทิ้งกัน” เป็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเครือข่ายภัยพิบัติของมูลนิธิชุมชนไท 11 เครือข่าย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา อุบลราชธานี ปทุมธานี และสมุทรสาคร นำโดย นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ด้วยการทำให้ชุมชนต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยชุมชนต้องเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง มีศักยภาพในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัย และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้ดูแลตัวเอง รวมถึงให้เขาไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไปด้วย เพื่อข้ามพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปให้ได้
มูลนิธิชุมชนไท หนึ่งในภาคีเครือข่ายหลักด้านการจัดการภัยพิบัติที่พัฒนางานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเน้นการเสริมศักยภาพบุคคลและสร้างความเข้มแข็งชุมชน ขยายกลุ่มอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติโควิด-19 โดยชุมชน ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการรวมพลังร่วมช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวางแผนรับมือ การให้ความรู้อย่างรอบด้าน รวมถึงการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยง ลดการแพร่ระบาด รวมถึงจัดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการเย็บหน้ากากอนามัย ผลิตหน้ากากพลาสติกป้องกันใบหน้า (face shield) เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและมีอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ใช้เพื่อความปลอดภัย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), นายกเทศมนตรี, อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ประธานสภาองค์กรชุมชน, อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ฯลฯ
นอกจากนี้ เครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ ตั้งจุดคัดกรอง จัดหาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดทีมลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่จากต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนา และแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
“ทุกเครือข่ายของเราพร้อมที่จะสู้ไปด้วยกัน เพราะเรามีเป้าหมายให้เตรียมพร้อมจัดการได้ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาดซึ่งนับว่าเป็นภัยพิบัติเช่นกัน เราได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถรับมือได้ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย มีองค์ความรู้ในการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติชุมชน มีข้อมูลพื้นที่ จัดทำแผนที่และจุดหลบภัย มีปฏิทินภัยพิบัติ ข้อมูลครัวเรือนของสมาชิกในชุมชนทั้งหมด จัดอบรมให้สามารถติดตามสภาพอากาศรวมถึงระดับน้ำจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ฯลฯ จัดตั้งอาสาสมัครที่รับผิดชอบดูแลงานฝ่ายต่างๆ เช่น เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย อพยพกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก ฝ่ายปฐมพยาบาล ฝ่ายค้นหากู้ภัยและช่วยชีวิต ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายประสานงาน เป็นต้น สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ เราก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการร่วมแรงประสานใจ ดูแลพี่น้องในชุมชนรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ชุมชนชาวเลอันดามัน, ชาวมอแกน, กลุ่มคนจนเมือง ฯลฯ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดให้ดีที่สุดอย่างเต็มศักยภาพ” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทกล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติของ สสส. อาทิ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ มูลนิธิสื่อสังคม ฯลฯ จะประสานความร่วมมือเพื่อร่วมช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ให้มีอาชีพมีรายได้พออยู่พอกินต่อไป
ตัวอย่างการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนเพื่อรับมือโควิด-19
จ.ระนอง : ตั้งจุดคัดกรองชาวบ้านแรงงานต่างด้าวที่เข้า-ออกพื้นที่ พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา/มาจากต่างจังหวัดอย่างเข้มข้น ร่วมกับ อสม. และผู้ใหญ่บ้าน (ที่บ้านบางมัน ต.นาคา อ.สุขสำราญ, บ้านในวง ต.ละอุ่นหนือ, บ้านทุ่งตาพล ต.บางแก้ว อ.ละอุ่น)
: อาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน ต.กำพวน อ.สุขสำราญ ร่วมกับ อสม. เคาะประตูบ้าน ให้คำแนะนำการป้องกันการแพร่ระบาด ; วิธีการใช้หน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, และการกักตนเอง อยู่กับบ้านสำหรับกลุ่มเสี่ยง
: เฝ้าระวังจุดผ่อนปรนผ่านแดนชั่วคราว ในพื้นที่ ต.ลำเลียง อ.กระบุรี ร่วมกับกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน, ชรบ., อปพร. แจกจ่ายหน้ากากผ้าให้ชาวบ้าน และให้ความรู้แก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
: มอบหน้ากากอนามัยให้ รพ.สต. หาดสมแป้น อ.เมือง และแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้แก่ชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด, สถานีขนส่ง อ.กระบุรี โดยร่วมกับทีมงานของ สจ. และ สส.
จ.สตูล : อาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 ในการเฝ้าระวังและตั้งจุดคัดกรองประชาชนเดินทางเข้า-ออก ในเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อกับ จ.ตรัง ทั้งยังพร้อมใจกันปรับกลไกสู่เชิงรุกเพื่อสร้างกำลังใจการทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยผลิตหน้ากากพลาสติกป้องกันใบหน้า (face shield) มอบให้นายอำเภอรัษฎา จ.ตรัง สำหรับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองใช้ หลังจากแจกจ่ายเพียงพอในชุมชนแล้ว
: จัดทำข้อมูลกลุ่มเสี่ยงทั้งหมู่บ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็ก รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้า-ออกจากต่างจังหวัด/ต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น (ต.กำแพง อ.ละงู)
จ.พังงา : ตั้งศูนย์ COVID19 สนับสนุนให้แม่บ้าน/อาสาสมัครใน อ.ทับปุด (ต.ทับปุด, ต.บางเหรียง, ต.บ่อแสน, ต.ถ้ำทองหลาง, ต.มะรุ่ย), อ. ตะกั่วทุ่ง (ต.ท่าอยู่, ต.คลองเคียน), อ. ตะกั่วป่า (ต.ตำตัว) อ.ท้ายเหมือง (ต.ท้ายเหมือง) ทำหน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
: อาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ตั้งศูนย์คัดกรองร่วมกับกรมการปกครอง, รพ.สต. ตั้งศูนย์คัดกรองบุคคลเข้า-ออกพื้นที่ ตรวจวัดอุณหภูมิ และแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่ยังไม่มีใช้ทุกคนที่ผ่านทาง
จ. นครศรีธรรมราช :ต.ปากนคร อ.เมือง บูรณาการร่วมกับฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่ สาธารณสุข (นายกเทศมนตรี, ผู้ใหญ่บ้าน, อสม., รพ.สต., วัด ฯลฯ) เตรียมความพร้อมให้สมาชิกในชุมชน, รณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน, ดูแลผู้มาจากต่างจังหวัด/ ติดตามกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ผลิตหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ พร้อมทั้งจัดตั้งจุดเฝ้าระวังในชุมชน ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง
: ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง ตั้งจุดคัดกรอง ผลิตหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ แจกจ่ายให้ชาวบ้านในตลาด รณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ/การแพร่ระบาด ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดนัด จุดนัดหมายในชุมชน
: อ.ชะอวด และ อ.เชียรใหญ่ ยกระดับจากการผลิตหน้ากากอนามัย, หน้ากากพลาสติกป้องกันใบหน้า และเจลแอลกอฮอล์ โดยการฝึกอบรมจาก กศน. สู่การผลิตชุดป้องกันเชื้อเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ งาน โดยชุมชนร่วมกันจัดหาเสื้อคลุมกันน้ำ, ถุงมือยาง ฯลฯ สำหรับใช้ในการลงพื้นที่ และการตั้งจุดคัดกรอง
จ.ภูเก็ต : ทำหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้สมาชิกในเครือข่ายฯ และชุมชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ชุมชนชาวเล กลุ่มคนจนเมือง ฯลฯ
: ประชุมทำแผนจัดการภัยพิบัติ COVID-19 พร้อมทั้งผลิตสื่อและรณรงค์ต่างๆร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
จ. ตรัง : เตรียมเปิดศูนย์ประสานงานระดับตำบลที่ ต.นาตาล่วง อ.เมือง โดยประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของภาครัฐ และประธานสภาองค์กรชุมชน, จัดทีมลงพื้นที่เฝ้าระวังทุกชุมชน และร่วมกับท้องถิ่นตั้งจุดคัดกรองการเข้าพื้นที่ 4 จุด, ตั้งกลุ่มผลิตหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
จ.อุบลราชธานี : อาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ในชุมชนหนองผำ ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ ทำความสะอาดพื้นที่ในชุมชน
จ.สมุทรสาคร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตั้งจุดคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ และแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด
จ.ปทุมธานี : ผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากพลาสติกป้องกันใบหน้า เจลล้างมือ แจกจ่ายให้สมาชิกเครือข่ายฯ ชาวบ้าน และถวายพระสงฆ์ (พื้นที่ ต.กระแชง อ.สามโคก)