กรมอนามัย แนะ สถานที่พัก – โรงแรม จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะแนวทางการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักหรือโรงแรม กรณีจัดให้เป็นสถานที่ควบคุมเพื่อแยกสังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอ รวมถึงผู้มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคที่ต้องแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมโรงแรมหรือสถานที่พัก เพื่อแยกสังเกตอาการผู้มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคไวรัส COVID-19 กรมอนามัยจึงได้จัดทำแนวทางการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานที่พักหรือโรงแรมที่ควบคุมเพื่อแยกสังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อ ความสะอาด ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) แยกห้องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องกินอาหาร เป็นสัดส่วน โดยมีระบบทำความสะอาดจุดสัมผัสและการจัดการขยะอย่างถูกวิธี 2) มีสถานที่เตรียม ปรุง ประกอบอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ หรือให้หน่วยงานภายนอกรับไปดำเนินการ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3) จัดบริการน้ำดื่มบรรจุขวดหรือน้ำดื่มในภาชนะปิดสนิทให้เพียงพอ 4) ควรมีโรงซักฟอก ที่สามารถทำความสะอาดผ้าและทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณี ให้หน่วยงานภายนอกรับไปดำเนินการ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 5) มีห้องส้วม มีระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาลและปลอดภัย 6) มีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบฆ่าเชื้อโรค ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในน้ำทิ้งตรวจคุณภาพน้ำทิ้งตามเกณฑ์ที่กำหนด 7) รวบรวมมูลฝอยทั้งขยะทั่วไปและขยะที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้สังเกตอาการ และ 8) ต้องมีแนวทางและแผนการสร้าง    ความเข้าใจ ความรู้และมาตรการป้องกันด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรับทราบและไม่เกิดข้อขัดแย้งต่อกัน

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้าพักเพื่อแยกสังเกตอาการ ต้องวัดอุณหภูมิกายทุกวัน หากพบว่า มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามแนวทางที่กำหนดไว้ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แปรงสีฟัน จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ คัดแยกขยะทั่วไป และขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่นและนำไปรวบรวมในบริเวณที่โรงแรม หรือสถานที่พักกำหนด ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ส่วนตัวสม่ำเสมอ ต้องเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศและรับแสงแดดธรรมชาติ ทุกวัน งดการทำกิจกรรมใกล้ชิดกับผู้อื่น ในพื้นที่ส่วนรวมของอาคาร หรือนอกอาคาร หากต้องติดต่อญาติ เพื่อน หรือบุคคลต่าง ๆ ให้ใช้โทรศัพท์ หรือ ไลน์ และให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ถูกควบคุมเพื่อสังเกตอาการอย่างเคร่งครัด

“ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานในโรงแรมหรือสถานที่พักและผู้มาติดต่อในอาคาร ต้องตรวจวัดอุณหภูมิกายก่อนเข้าอาคาร โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และถุงมือ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปากของตนเอง ต้องเว้นระยะห่าง 1-2  เมตร ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและเก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมใส่เสื้อคลุมกันน้ำแขนยาว หรือเสื้อแขนยาว ขายาวและผ้ายางกันเปื้อนปกคลุม ใช้ถุงมือยางหนา รองเท้าบูทพื้นยางหุ้มแข้ง สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย แว่นป้องกันตาหรือกระจังกันใบหน้า หลังปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวัน ต้องล้างมือ อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวที่สุด


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 13  เมษายน 2563