กรมเจรจาฯ เดินหน้าเตรียมความพร้อม“อนาคตของธุรกิจบริการในยุคการค้าเสรี”

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดทัพสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาครัฐและภาคเอกชน จัดสัมมนาเรื่อง “อนาคตของธุรกิจบริการในยุคการค้าเสรี” มุ่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า
ให้ผู้ประกอบการ และสร้างความเข้าใจขยายผลการเจรจาเขตการค้าเสรีเรื่องการค้าบริการให้ทุกภาคส่วนได้ใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง
FTA อย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนาเรื่อง อนาคตของธุรกิจบริการในยุคการค้าเสรี” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs Startup หน่วยงานภาครัฐ และผู้สนใจทั่วไป รวมผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน โดยมีหัวข้อแนวโน้มธุรกิจบริการที่จะเกิดขึ้น เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกับการเปิดเสรีภาคบริการ และการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการในตลาดอาเซียนและ CLMV ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบถึงกฎระเบียบและการลดอุปสรรค ในการประกอบธุรกิจบริการในประเทศคู่ค้า โดยมีวิทยากรคือ คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ จากบริษัท ดีวานาสปา จำกัด เห็นว่าการค้าสินค้าและบริการสามารถทำพร้อมกันได้ และการทำธุรกิจบริการควรเน้นการสร้างพันธมิตรเครือข่าย ขณะที่คุณสุวรรณดี ไชยวรุตม์ จากบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) แนะให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งบนสื่ออนไลน์ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการทำการตลาด นอกจากนี้ คุณอรรถพล สาธิตคณิตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และธุรกิจดิจิทัล และคุณเจษฎา ศิวรักษ์ จากบริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมเสวนาเรื่องธุรกิจบริการในอนาคต เจาะประเด็นสาขาโลจิสติกส์และ ECommerce ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการจับจ่ายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นและการรีวิวสินค้าในโซเซียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอนาคตการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะมีความสำคัญมากขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลและการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะในภาคการผลิตจะส่งผลให้ความต้องการใช้แรงงานลดลง

ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ยังได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการเจรจาเขตการค้าเสรีเรื่องการค้าบริการในกรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน (ASEAN Framework Agreement in Services: AFAS) ซึ่งไทยได้จัดทำข้อผูกพัน การเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 เสร็จแล้ว และเปิดให้อาเซียนเข้ามาลงทุนโดยถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ครอบคลุมสาขาบริการ 106 สาขา เพิ่มเติมจากชุดที่ 9 จำนวน 6 สาขาย่อย เช่น กิจกรรมการขนส่งสินค้าโดยคนหรือสัตว์ลากจูง กิจกรรมบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงเรือบรรทุก และบริการทำความสะอาดระวางเรือบาร์จ เป็นต้น ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Service Agreement: ATISA) เพื่อใช้แทนที่กรอบความตกลง AFAS โดยผู้ประกอบการสามารถนำความรู้จากงานสัมมนาฯ ไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และเพิ่มการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ตลอดจนปรับตัวให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงต่อกฎเกณฑ์การค้าของโลก กรมฯ และทุกภาคส่วนได้ใช้เวทีงานสัมมนาในการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวางในเรื่องธุรกิจบริการและกลยุทธ์แนวทางในการเข้าสู่ตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาฯ เป็นไปตามนโยบายของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในการเผยแพร่ความรู้ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าบริการ และทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาคบริการ การสัมมนาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุกภาคส่วน นับเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนในภาคบริการในตลาดอาเซียน และยังช่วยสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินการของกรมฯ ในประเด็นการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนอีกด้วย

——————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์