คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ขอความร่วมมือประชาชนดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ดื่มสุราและผู้ติดสุรา
วันที่ 11 เมษายน 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ลงนามในหนังสือขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 เมษายน 2563 เพื่อขอให้ ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างเข้มงวดตามคำสั่งจังหวัด และขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 อันเนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีข้อกำหนดสำคัญหลายมาตรการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน เช่น มาตรการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ และมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย การรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจังหวัดได้สั่งงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยลดการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคดังกล่าวได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี 2 มาตรการสำคัญคือ มาตรการประชาสัมพันธ์ และมาตรการสำหรับสถานพยาบาล ดังนี้ มาตรการประชาสัมพันธ์ 1.กลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะภาวะพิษของแอลกอฮอล์ ซึ่งมีพิษทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออวัยวะภายในร่างกายหลายระบบ และจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.กลุ่มผู้ดื่มสุรา แนะนำให้ลด ละ เลิกการดื่มสุรา เนื่องจากพิษของสุรามีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีอาการติดเชื้อรุนแรงกว่าคนในภาวะปกติ และหากตั้งใจหยุดดื่มสุรา ให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ และปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนการดื่ม ให้คิดเสมอว่าในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้จ่ายในครอบครัวควรใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและไม่บั่นทอนสุขภาพ 3.กลุ่มผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา แนะนำค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลง เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยุดดื่มกะทันหัน และควรมีการประเมินความเสี่ยงภาวะถอนพิษสุราของตนเอง โดยโทรสอบถามสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือที่รักษาประจำ สังเกตอาการของตนเอง เช่น มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย อีกทั้งดูแลกิจวัตรประจำวันปกติ ได้แก่ การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย รับประทานอาหารให้อิ่มเพื่อลดการอยากดื่มสุรา การพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการรับประทานยาตามแผนการรักษาหากป่วยด้วยโรคอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากไวรัสโควิด-19 4.ญาติ ผู้ใกล้ชิด หรือผู้ดูแล สังเกตอาการ กรณีถ้าผู้ที่หยุดดื่มกะทันหัน หากมีอาการมือสั่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย สับสน ชัก มีภาวะหมดสติหรือวิกฤติฉุกเฉิน ให้รีบพาไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน และการระวังการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายในกรณีผู้ติดสุรามีภาวะชัก เช่น การล้มหรือการสำลักระหว่างการชัก ส่วนมาตรการสำหรับสถานพยาบาล 1.จัดให้มีระบบประเมินความเสี่ยงและบำบัดรักษาภาวะถอนพิษสุราของผู้ติดสุรา 2.จัดระบบปรึกษาทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ 3.จัดระบบให้รับยาใกล้บ้าน หรือระบบส่งยาเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ขาดยา สำหรับผู้ป่วยติดสุราที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ดื่มสุราและผู้ติดสุรา เนื่องจากการดื่มสุราเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และภาวะถอนพิษสุราก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์นี้ ขอให้ประชาชนอยู่บ้าน ไม่ออกไปพบปะกลุ่มเพื่อนหรือสังสรรค์ดื่มสุรา เพราะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญอาจเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากความประมาท ขับรถเร็ว หรือเมาสุราได้ ทั้งนี้ สามารถโทรปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสายด่วนยาเสพติด 1165
**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค
วันที่ 12 เมษายน 2563