ชป. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตอนบนประเทศไทย หลังอุตุฯเตือนพายุฤดูร้อน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ฉบับที่ 2 (65/2563) ลงวันที่ 11 เมษายน 2563 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 12 – 14 เมษายน 2563” เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ใน นั้น

 

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที พร้อมกับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ หากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ฝนตกลงมายังพื้นที่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ก็จะส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมทั้งปริมาณน้ำท่าในสายหลักต่างๆด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัดและปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้สำนักงานชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ตอนบน ให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ  รวมทั้งการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่แล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

12 เมษายน 2563