ปภ.รายงานจังหวัดขอนแก่นได้รับผลกระทบจากวาตภัย – เร่งให้การช่วยเหลือโดยด่วน/เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 12 – 14 เม.ย. 63

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเกิดสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 51 หลัง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว นอกจากนี้ ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 12 – 14 เม.ย. 63 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายมณฑล  สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 เกิดสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 51 หลัง หอประชุม 1 หลัง อาคารเรียน 1 หลัง คอกสัตว์ 13 หลัง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยด่วนแล้ว รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ประเมิน และจัดทำบัญชีข้อมูลความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 12 – 14 เมษายน 2563 พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้น

ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากภาวะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า โดยอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป