ขมิ้นชัน : สมุนไพรเพื่อความงาม

ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) หรือในบางท้องถิ่นเรียก ขมิ้นแกง ขี้มิ้น ตายอ สะยอ หมิ้น นอกจากลำต้นใต้ดินหรือเหง้าของขมิ้นชันถูกเป็นยารับประทานสำหรับขับลมบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แล้ว ตามตำรายาไทยยังใช้ผงจากเหง้าขมิ้นชัน รักษาแผล แมลงกัดต่อย และกลากเกลื้อน ((1)) นอกจากนี้ผงแห้งและสารสกัดจากเหง้าขมิ้นชันยังใช้เป็นองค์ประกอบในตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บารุงผิวพรรณ โดยมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขมิ้นชันที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงผิวพรรณ และความงามได้แก่ ฤทธิ์ต้านการเกิดสิว ฤทธิ์ปกป้องผิวและลดริ้วรอย ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ฤทธิ์ต้านการเกิดสิว โดยพบว่าน้ามันหอมระเหยจากขมิ้นชันมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวคือ Propionibacterium acnes และได้ผลดีกว่ายา metronidazole (2) สารเคอร์คูมินที่เป็นสารสำคัญในขมิ้นชันที่มีอนุภาคระดับนาโนพาร์ติเคิล ความเข้มข้น 0.43 มคก./มล. สามารถยับยั้งเชื้อ P. acnes ได้เช่นกัน(3) และมีการจดสิทธิบัตรว่าเจลที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากขมิ้นสามารถรักษาสิวได้ (4)

ฤทธิ์ปกป้องผิวและลดริ้วรอย การศึกษาในหนูเม้าส์ที่เหนี่ยวนำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นด้วยรังสีอุลตร้าไวโอเลตบี ป้อนสารสกัดขมิ้น ขนาด 1,000 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นาน 19 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันการเหี่ยวย่นของผิวหนังหนูได้ในสัปดาห์ที่ 11 ของการศึกษา โดยไปยับยั้งเอนไซม์แมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส-2 (matrix metalloproteinase-2; MMP-2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทต่อกระบวนการทำลายเนื้อเยื่อ(5)

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ในเซลล์เมลาโนมาของหนูเม้าส์ และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีด้วย (6) โดยสารสกัดขมิ้นชันด้วยเมทิลีนคลอไรด์ มีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 51มคก./มล. (7) สารสกัดขมิ้นสดสกัดด้วยเอทานอล ปิโตรเลียมอีเทอร์ และสารสกัดขมิ้นอบแห้งสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ มีการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสเท่ากับ 40.06, 35.52 และ 32.17% ตามลำดับ (8) นอกจากนี้สารเคอร์คูมินสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีในเซลล์เมลาโนไซต์ของคนโดยไปกระตุ้นการทำงานของ p38-MAPK (p38 mitogen-activated protein kinases) (9)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารเคอร์คูมินในขมิ้นชันมีการศึกษาหลายฉบับพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (10-13) และมีการศึกษาว่าสารเตตระไฮโดรเคอร์คูมิน (tetrahydrocurcumin : THC) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของเคอร์คูมิน เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH-radical scavenging method พบว่าอนุพันธ์ THC มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าเคอร์คูมิน(14)

สารเคอร์คูมินจากขมิ้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบโดยวิธี DPPH -radical scavenging โดยมีค่าความเข้มข้นที่ต้านอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 530.1 – 860.3 มคก./มล. (15) สารเคอร์คูมิน และสาร theracurmin ความเข้มข้น 1 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์สมองของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิด oxidative stress ด้วยสาร sodium nitroprusside และเพิ่มระดับเอนไซม์ glutathione ในเซลล์สมองของหนูด้วย(16) สารสกัดขมิ้นชันที่หมักด้วย 2% เชื้อรา Aspergillus oryzae แล้วทำให้แห้งด้วยความเย็น (lyophillized) ขนาด 30 และ 300 มก./กก. น้ำหนักตัว เมื่อป้อนให้หนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยสารคาร์บอนเตดตระคลอไรด์ นาน 14 วัน พบว่าขนาดยาทั้งสองสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ catalase(CAT), glutathione-S-transferase (GST), glutathione reductase (GR), glutathione peroxidase (GPx)ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (17) และมีการศึกษาพบว่าสารเคอร์คูมินความเข้มข้น 1 ไมโครโมลาร์ เมื่อทดสอบโดยวิธี reducing power activity (RPA) สามารถต้านอนุมูลอิสระได้62% โดยเปรียบเทียบกับวิตามินซีซึ่งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ 69% จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงในฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (18)

นอกจากนี้มีรายงานการศึกษาทางคลินิกของการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดขมิ้นชันและสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้นชัน เพื่อศึกษาฤทธิ์ลดเลือนริ้วรอย เพิ่มความยืดหยุ่นและกระชับผิว และแก้ผิวหนังอักเสบ ดังนี้ การศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดีทั้งชายและหญิงจำนวน 33 คน อายุเฉลี่ย 39.7 ± 6.6 ปี ที่มีริ้วรอยบนใบหน้า (วิเคราะห์โดยแพทย์ผิวหนัง) ซึ่งทุกคนต้องทดสอบโดยแบ่งใบหน้าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้นชัน อีกส่วนใช้ครีมพื้นฐานปกติ ทุกวันก่อนนอน นาน 8สัปดาห์ พบว่าส่วนที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้น ผิวหน้าจะดีกว่าอีกด้านที่ใช้ครีมพื้นฐานอย่างชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ ช่วยลดริ้วรอย ทาให้ผิวมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่นดี ผิวขาวขึ้นหลังจากการใช้นาน 3 สัปดาห์ และค่อนข้างปลอดภัย(19, 20) ครีมบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้นชันสามารถช่วยให้รอยย่นบริเวณหางตาแลดูลดลงได้ภายใน 5 สัปดาห์

(21) แผ่นแปะไฮโดรเจลที่มีส่วนผสมของสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้นชันสามารถช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังบริเวณใต้เปลือกตาล่างและช่วยให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวกระชับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเจลขัดหน้าที่มีส่วนผสมของสารเคอร์คูมินอยด์จากขมิ้นชันและสบู่เหลวขัดผิวนั้นมีความอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้สมดุลของผิวเปลี่ยนแปลงไปแม้จะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวัน (21) การศึกษาผลของเจลสมุนไพรที่ประกอบด้วยสารtetrahydrocurcumin จากขมิ้น (0.1%) สารสกัดน้ำจากโรสแมรี่ (0.3%) และสารสกัดบิวทีลีนไกลคอลจากบัวบก (1%) ในอาสาสมัครเพศหญิง จำนวน 28 คน อายุระหว่าง 34 – 67 ปี โดยให้ทาเจลที่ผิวหน้าด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งทาเจลพื้น (gel base) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัคร 25 คน ผิวด้านที่ทาเจลจะมีความกระชับ และความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเจลพื้น ขณะที่อีก 3 คน ไม่ได้ทดลองจนครบ เนื่องจากเกิดการระคายอย่างอ่อนๆ ต่อผิวหน้า (22)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากขมิ้นชันให้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวชนิดเจลเข้มข้นและผลิตภัณฑ์บำรุงผิววัฏภาคน้ำมัน เจลทาความสะอาดผิวผสมเคอร์คูมินอยด์ไมโครพาร์ทิเคิลมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดได้อย่างหมดจด และมีประสิทธิภาพเหนือกว่าเจลในท้องตลาด นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว และความยืดหยุ่นของผิวได้อย่างมีนัยสำคัญหลังจากการใช้เวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่ 6 ครีมบำรุงผิวผสมเคอร์คูมินอยด์ไมโครพาร์ทิเคิลสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวสูงสุดได้ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ และคงให้ค่าสูงกว่าค่าเริ่มต้นที่ 0 สัปดาห์ ได้อย่างมีนัยสำคัญจนถึง 6 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 1 และ6 สัปดาห์ และเห็นผลได้ดีที่สุดที่เวลา 6 สัปดาห์ สำหรับครีมบำรุงผิวผสมเคอร์คูมินอยด์พอลิเมอร์สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้เป็นเวลาตั้งแต่ 1 – 3 สัปดาห์ และสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ครีมบำรุงผิวและเจลทำความสะอาดผสมเคอร์คูมินอยด์ไมโครพาร์ทิเคิล และเจลพื้นไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิว แต่ครีมบำรุงผิวผสมเคอร์คูมินอยด์พอลิเมิอร์และครีมพื้นก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวมากกว่าน้ำเปล่า (23)

การศึกษาฤทธิ์รักษาโรคผิวหนังอักเสบในผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ (eczema) จำนวน 360 คน ที่มีอาการคัน ผิวแห้งด้าน มีน้ำใต้ผิวหนัง หรือมีเลือดออก แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ทายาหลอก กลุ่มที่ 2ให้ทายาที่มีส่วนผสมของบัวบก ขมิ้นชัน และวอลนัท ในรูปของ micro emulsion เจล และ ointment นาน 3 สัปดาห์ พบว่ายาทาในรูปของ micro emulsion ช่วยลดปริมาณการเกิดน้ำใต้ผิวหนัง หรือมีเลือดออกได้ในขณะที่ยาทาในรูปเจล สามารถลดอาการคันได้ดี ส่วนยาทาในรูปของ ointment สามารถลดอาการผิวหนังแห้งด้าน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก(24) ส่วนการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งที่ศีรษะ และคอ จำนวน50 คน ที่ต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสง อายุระหว่าง 54.3 ± 9.86 ปี และทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการฉายแสง แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 25 คน กลุ่มที่ 1 ให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันโจโจ้บา กลุ่มที่ 2ให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันจากไม้จันทน์และขมิ้นชันในบริเวณที่ฉายแสงวันละ 5 ครั้ง (ก่อนฉายแสง 2ชม. หลังฉายแสงเสร็จทันที หลังฉายแสง 2, 4, และ 6 ชม.) นาน 7 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับครีมที่มีส่วนผสมของขมิ้นชันผิวหนังที่ฉายแสงมีการอักเสบลดน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำมันโจโจ้บา (25)

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ขมิ้นชัน(26)

อาการไม่พึงประสงค์

อาจเกิดผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (26)

 

เอกสารอ้างอิง (References)

  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน.กรุงเทพฯ: คอนเซ็พท์ เมดิคัส จากัด. 2551:577 หน้า.

2 . Li W, Zheng G, Cao Y, Wu C. Study on inhibition effects of volatile oil from Curcuma longa onPropionibacterium acne. Zhongguo Meirong Yixue 2006;15(9):1062-3.

3 . Liu C-H, Huang H-Y. In vitro anti-propionibacterium activity by curcumin containing vesiclesystem. Chem Pharm Bull 2013;61(4):419-25.

  1. Feng B, Teng X. Curcuma longa extract gel for treating acne. Patent : Faming Zhuanli ShenqingGongkai Shuomingshu 2009, CN101524509, 4pp.

5 . Sumiyoshi M, Kimura Y. Effect of a turmeric extract (Curcuma longa) on chronic ultraviolet Birridation-induced skin damage in melanin –possessing hairless mice. Phytomedicine 2009;16:1137-43.

6 . Kim JA, Son JK, Chang HW, et al. Inhibition of mushroom tyrosinase and melanogenesis B1 6 mouse melanoma cells by components isolated from Curcuma longa. Nat Prod Com 2008;3(10):1655-8.

  1. Shin N-H, Lee KS, Kang S-H, et al. Inhibitory effects of herbal extracts on dopa oxidase activity oftyrosinase. Nat Prod Sci 1997;3(2):111-21.
  1. จินดาพร คงเดช ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ และ อรพิน เกิดชูชื่น. ประสิทธิภาพของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดจากพืช 5 ชนิด. การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยพืชเขตร้อนและกึ่งร้อนครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพ ฯ วันที่ 21-22 ส.ค. 2551 2551 หน้า 76.
  1. Tu C-X, Lin M, Lu S-S, et al. Curcumin inhibits melanogenesis in human melanocytes. PhytotherRes 2012;26:174-9.
  1. Noguchi N, Komuo E, Niki E, et al. Action of curcumin as an antioxidant against lipid peroxidation.Yukagaku 1994;43(12):1045-51.
  1. Ruby AJ, Kuttan G, Babu KD, et al. Antitumor and antioxidant activity of natural curcuminoids.Cancer Lett 1995;94(1):79-83.

12 . Sharma J, Singh A, Sharma R, et al. Synthesis and antioxidant appraisal of curcumin and twocurcuminoid compounds. Pharmacia Sinica 2013;4(3):151-63.

  1. ปริ่มเฉนียน มุ่งการดี. การตรวจสอบฤทธิ์แอนติออกซิเดชั่นของสารสมุนไพรโดยใช้ animal cell culture และ ปฏิกิริยาทางเคมี. การสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม”. กรุงเทพฯ

วันที่ 28-29 กันยายน 2549 หน้า 48-50.

  1. Sakorn N, Ovatlarnporn C. The development of the synthesis of tetrahydrocurcumin derrivatives and antioxidant properties studies. 34th Congress on Science and Technology of Thailand, Dec31 – Nov2, 2008, Bangkok, Thailand.
  2. Martin RM, Pereira SV, Siqueira S. Curcuminoid content and antioxidant activity in spray dried microparticles containing turmeric extract. Food Res Inter 2013;50:657-63.
  3. Nazari QA, Kume T, Izuo N, et al. Neuroprotective effects of curcumin and highly bioavailable curcumin on oxidative stress induced by sodium nitroprusside in rat striatal cell culture. Biol Pharm Bull 2013;36(8):1356-62.
  4. Kim Y, You Y, Yoon H-G, et al. Hepatoprotective effects of fermented Curcuma longa L. on carbon tetrachloride-induced oxidative stress in rats. Food Chem 2014;151:148-53.
  5. Asouri M, Ataee R, Ahmadi AA, et al. Antioxidant and free radical scavenging activities of curcumin. Asian J Chem 2013;25(13):7593-5.
  6. Plianbangchang P, Tungpradit W, Tiyaboonchai W. Efficacy and safty of curcuminoids loaded solid nanoparticles facial cream as an anti-aging agent. Nareasuan University Journal 2007;15(2):73-81.
  7. Tungpradit W. Development and clinical study of curcuminoids loaded solid nanoparticles. MS Thesis Naresuan University 2006:157 pp.
  8. เนติ วระนุช จารุภา วิโยชน์ วรี ติยะบุญชัย ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง กรกนก อิงคนินันท์ ประทีป วรรณิศร. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผสมสารสกัดจากขมิ้นและผลของผลิตภัณฑ์ต่อคุณสมบัติของผิวหนัง. งานสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม” กรุงเทพฯ, 28-29 กันยายน 2549.
  9. Sommerfeld B. Randomiseed, placebo-controlled, double-blind, split-face study on the clinical efficacy of Tricutan on skin firmness. Phytomedicine 2007;14:711-5.
  10. อาณดี นิติธรรมยง. การวิจัยและพัฒนาสมุนไร ขมิ้นชัน เป็นยา อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อที่ใช้กับคนและสัตว์. การสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2”, กรุงเทพฯ 19-20 มีนาคม 2552.
  11. Khijee, S, Rehman N, Khiljee T, Loebenberg R, Ahmad RS. Formulation and clinical evaluation of topical dosage forms of Indian penny wort, walnut and turmeric in eczema. Pak J Pharm Sci. 2015 Nov;28(6):2001-7.
  12. Palatty PL, Azmidah A, Rao S, Jayachander D, Thilakchand KR, Rai MP, et al. Topical application of a sandal wood oil and turmeric based cream prevents radiodermatitis in head and neck cancer patients undergoing external beam radiotherapy: a pilot study. Br J Radiol 2014;87(1038):20130490.
  13. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2549:100 หน้า.

ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU โดย พนิดา ใหญ่ธรรมสาร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล