พรมมิ หรือ ผักมิ (Bacopa monnieri (L.) Pennell) เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณเด่นในด้านของ การใช้เป็นยาบำรุงสมองและความจำ สามารถนำมารับประทานเป็นผักลวกจิ้มกับน้ำพริก โดยลักษณะของ ต้นพรมมิจะเป็นพืชล้มลุก ลำต้นเลื้อยแผ่ไปตามดิน มีรากงอกที่ข้อ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปช้อนหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปขอบขนานแกมไข่กลับ มีสีขาวหรือม่วงอ่อน สรรพคุณของพรมมิตามตำรายาไทย ใช้เป็นยาบำรุงประสาท บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ยาขับโลหิต แก้ไข้ ขับพิษร้อน และขับเสมหะ (1) และในตำราอายุรเวทของอินเดียพบว่า เป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้วที่พรมมิ ถูกนำมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และบำรุงสมอง (2)สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacosides ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B (3) ในการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มก. (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) นาน 12 สัปดาห์พบว่า อาสาสมัคร มีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น (4, 5) และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มก.) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิ มีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (6) นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิขนาด 50 มก. (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง นาน 12 สัปดาห์ มีผลช่วยให้เด็ก มีพัฒนาการในการเรียนรู้ดีขึ้น (7) และจากการศึกษาด้านความปลอดภัยของพรมมิในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 23 คน อายุระหว่าง 18 – 45 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ (BacoMindTM) ขนาด 300 มก./วัน ติดต่อกัน 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มก./วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด (8) แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้ (4)
ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตและจำหน่ายพรมมิในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อใช้บำรุงสมองและความจำ ซึ่งจากการรวบรวมผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อประสิทธิภาพของกระบวนการคิด การเรียนรู้ และการฟื้นฟูความจำในระดับคลินิกแสดงให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ให้ผลในเชิงบวก และค่อนข้างมีความปลอดภัย ดังนั้น สมุนไพรพรมมิจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้บำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะความจำเสื่อมได้
เอกสารอ้างอิง
- นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 3. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จากัด; 2543. 823 หน้า
- Vikas K. Potential medicinal plants for CNS disorders: an Overview. Phytothe Res. 2006; 20: 1023-35.
- Deepak BM, Amit A. The need for establishing identities of ‘bacoside A and B’, the putative major bioactive saponins of Indian medicinal plant Bacopa monnieri. Phytomedicine 2004; 11(2-3): 264-8.
- Morgan AK. Grey matters: dose Bacopa monnieri improve memory performance in older persons. 2006. Cross University, Lismore, NSW.
- Barbhaiya HC, Desia RP, Saxena VS, et al. Efficacy and Tolerability of BacoMind® on memory improvement in elderly participants-a bouble blind placebo controlled study. J Pharmacol Toxicol 2008; 3(6): 425-34.
- Usha PD, Wasim P, Joshua P, et al. BacoMind®: A cognitive enhancer in children requiring individual education programme. J Pharmacol Toxicol 2008; 3(4): 302-310.
- Negi KS, Singh YD, Kushwaha KP, et al., Clinical evaluation of memory enhancing properties of memory plus in children with attention deficit hyperactivity disorder. Ind J Psychiatry 2000; 42: Supplement
- Pravina K, Ravidra KR, Goudar KS, et al. Safety evaluation of BacoMindTM in healthy volunteer: a phase I study. Phytomedicine 2007; 14: 301-8.
ขอบคุณข้อมูลขาก MED HERB GURU โดย พิชานันท์ ลีแก้ว สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล