สหัศธารา…ตำรับยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ

สหัศธารา เป็นหนึ่งในตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการ ทางกล้ามเนื้อและกระดูก สำหรับรับประทาน สหัศธาราเป็นยาตำรับที่มีรสร้อน มีสรรพคุณ คือ แก้อาการ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ ขับลมในเส้นเอ็น และแก้โรคลมกองหยาบ ประกอบด้วยสมุนไพรต่างๆ 21 ชนิด

ในสูตรตำรับได้ระบุว่า ผงยา 1,000 ก. จะประกอบด้วยสมุนไพร ดังนี้ (1)

  1. พริกไทยล่อน หนัก 240 ก. รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก 224 ก. ดอกดีปลี หนัก 96 ก. หัศคุณเทศ หนัก 48 ก.
  2. เนื้อลูกสมอไทย หนัก 104 ก. รากตองแตก หนัก 80 ก.
  3. เหง้าว่านน้ำ หนัก 88 ก.
  4. การบูร หนัก 14 ก. ดอกจันทน์ หนัก 13 ก. เทียนแดง หนัก 11 ก. ลูกจันทน์ หนัก 12 ก. เทียนตา ตั๊กแตน มหาหิงคุ์ หนักสิ่งละ 10 ก. เทียนสัตตบุษย์ หนัก 9 ก. เทียนขาว รากจิงจ้อ หนักสิ่งละ 8 ก. เทียนดา หนัก 7 ก. โกฐกักกรา หนัก 6 ก. โกฐเขมา หนัก 5 ก. โกฐก้านพร้าว หนัก 4 ก. โกฐพุงปลา หนัก 3 ก.

ข้อบ่งใช้ ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

ขนาดและวิธีใช้ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 ก. วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้

คำเตือน

– ควรระวังการบริโภคในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก (แผลที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น) และกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน

– ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับและไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้

– ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง ซึ่งมีการวิจัยพบว่าพริกไทยจะเกิดอันตรกิริยา (drug-interaction) กับยาเหล่านี้ ทำให้มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้

อาการไม่พึงประสงค์ ร้อนท้อง แสบท้อง คลื่นไส้ คอแห้ง ผื่นคัน

สำหรับรายงานวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณของตำรับยาสหัศธารา มีดังนี้

  1. ฤทธิ์แก้ปวด

การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาแคปซูลสหัศธารากับยาเม็ดไดโคลฟีแนค (diclofenac) ในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอ อายุ 25-60 ปี จำนวน 62 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้รับประทานยาแคปซูลสหัศธารา ขนาด 400 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 7 วัน และกลุ่มที่ให้รับประทานยาเม็ดไดโคลฟีแนค ขนาด 25 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ประเมินผลระดับความรู้สึกปวดก่อนและหลังการรักษาด้วย Visual Analogue Scale (VAS) พบว่าทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการปวดลดลงจากก่อนได้รับยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม พบว่าระดับอาการปวดกล้ามเนื้อ ทั้งก่อนและหลังการรักษาในทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน แสดงว่าการรับประทานยาแคปซูลสหัศธารา ขนาด 1,200 มก. ต่อวัน นาน 7 วัน สามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอได้ไม่แตกต่างจากการใช้ ยาเม็ดไดโคลฟีแนคขนาด 75 มก. ต่อวัน (2)

การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมของยาแคปซูลสหัศธารากับยาเม็ด ไดโคลฟีแนค (การศึกษาแบบ randomized double-blind controlled trial) ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม อายุ 45-80 ปี จำนวน 66 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้รับประทานยาแคปซูลสหัศธารา ขนาด 500 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 28 วัน และกลุ่มที่ให้รับประทานยาเม็ดไดโคลฟีแนค ขนาด 25 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน ทำการประเมินผลด้วย VAS, 100-meter walk times และ The Western Ontario McMaster Universities OA Index (WOMAC) พบว่ายาสหัศธาราและไดโคลฟีแนคให้ผลในการลดอาการปวดข้อเข่าได้ไม่แตกต่างกัน อาการไม่พึงประสงค์ที่พบในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม คือ มวนท้อง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาสหัศธาราจะไม่พบความผิดปกติของค่าเคมีของเลือดและไม่พบพิษต่อตับและไต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาไดโคลฟีแนค จะมีระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase และ alkaline phosphatase ในเลือดสูงขึ้น และมีความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ในกลุ่มที่ได้รับยาสหัศธาราไม่มีผลต่อความดันโลหิต จะเห็นว่าตำรับยาสหัศธาราให้ผลในการรักษาข้อเข่าเสื่อมได้เหมือนกับยาไดโคลฟีแนค แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า (3)

การศึกษาประสิทธิภาพของตำรับยาสหัศธาราในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ จำนวน 80 คน โดยให้รับประทานยาแคปซูลสหัศธารา ขนาด 500 มก. ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 70 มีอาการปวดกล้ามเนื้อลดลง แต่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ แสบร้อนท้อง คอแห้ง และอาการอื่น ๆ ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟ สรุปได้ว่ายาสหัศธาราในขนาดที่เลือกใช้ (1.5 ก./ครั้ง) ซึ่งเป็นขนาดสูงสุดที่ระบุในบัญชี ยาหลักแห่งชาติ สามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ แต่พบอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นอาจจะเลือกใช้ ยาในขนาด 1 ก. ซึ่งเป็นขนาดต่าสุดที่ระบุไว้ (4)

การศึกษาประสิทธิผลของการนวดไทยกับการใช้ยาสหัศธาราในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือ ต้นคอ ในอาสาสมัครชายหญิง อายุ 16 – 64 ปี ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอ จำนวน 76 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 รักษาด้วยการนวดไทยร่วมกับการใช้ยาสหัศธารา โดยได้รับการนวดไทยในวันที่ 1, 3 และ 7 ครั้งละ 45 นาที ร่วมกับการให้รับประทานแคปซูลยาสหัศธารา ขนาด 500 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกัน 7 วัน กลุ่มที่ 2 รักษาด้วยการให้รับประทานยาสหัศธารา ในขนาดที่เท่ากันเพียงอย่างเดียว ประเมินผลระดับอาการปวดก่อนและหลังการรักษาด้วยแบบประเมิน ระดับความเจ็บปวด (Visual Analogue Scale) พบว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดไทยร่วมกับการใช้ยาสหัศธารา และกลุ่มที่ได้รับเพียงยาสหัศธาราอย่างเดียวมีอาการปวดกล้ามเนื้อลดลงทั้ง 2 กลุ่ม แต่กลุ่มที่ได้รับ การนวดไทยร่วมกับการใช้ยา สหัศธารามีระดับความปวดลดลงชัดเจนในการรักษาวันที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ได้รับเพียงยาสหัศธาราความปวดลดลงชัดเจนในการรักษาวันที่ 2 (5)

  1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

เมื่อนำสารสกัด 95% เอทานอลของตำรับยาสหัศธาราและพืชเดี่ยวในตำรับ มาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนาด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ พบว่าสารสกัดจากตำรับสหัศธารา โกฐเขมา และตองแตก มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50; IC50 เท่ากับ 2.81, 9.70 และ 12.55 มคก./มล. ตามลำดับ) ได้สูงกว่ายา indomethacin (IC50 20.32 มคก./มล.) แต่ตำรับยามีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase COX-II ได้น้อยกว่ายา indomethacin (IC50 เท่ากับ 16.97และ 1.00 มคก./มล. ตามลำดับ) ขณะที่สารสกัดจากลูกจันทน์ พริกไทย และดีปลี มีฤทธิ์ดีในการยับยั้งเอนไซม์ COX-II โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 16.99, 17.70 และ 23.08 มคก./มล. ตามลำดับ (6, 7) นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดตำรับสหัศธารา ดีปลี โกฐเขมา และพริกไทย มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง Tumor Necrosis Factor- (TNF-) ได้ โดยมีค่า IC50 มากกว่า 30, 15.74±2.50, 19.63±1.13 และ 20.74±0.26 มคก./มล. ตามลำดับ (6) การศึกษาในเซลล์ผิวหนังของคน (normal human dermal fibroblast, NFDH) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย Interleukin-1 (IL-1) พบว่าสารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยา สหัศธารา และสารหลักที่พบในตำรับ ได้แก่ กรดแกลลิก (gallic acid) และพิเพอรีน (piperine) มีผลลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและภูมิคุ้มกันได้ (8)

  1. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

สารสกัด 70% เมทานอลจากตำรับยาสหัศธารา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดย มีค่า IC50 เท่ากับ 219.2±5.8 มคก./มล. และพบว่าสารหลักที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ กรดแกลลิก กรดชีบูลิก (chebulic acid) กรดชีบูลาจิก (chebulagic acid) กรดเอลลาจิก (ellagic acid) และคอริลาจิน (corilagin) (9) การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยาสหัศธาราและสมุนไพรเดี่ยวในตำรับด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดจากโกฐพุงปลา ลูกสมอไทย ลูกจันทน์ และตำรับสหัศธารา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถดักจับอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 3.77±0.52, 4.97±0.13, 6.13±0.40 และ 9.42±1.71 มคก./มล. ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าสารมาตรฐาน butylated hydroxyl-toluene; BHT) ที่มีค่า EC50 เท่ากับ 12.98±1.23 มคก./มล. (6)

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ของสารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยาสหัศธารา สมุนไพรเดี่ยว และสารหลักที่พบในตำรับ ได้แก่ กรดแกลลิกและพิเพอรีน ความเข้มข้น 3.75, 15, 30, 60, 120 มคก./มล พบว่าสารสกัดจากตำรับและกรดแกลลิกมีฤทธิ์จับกับอนุมูลอิสระ DPPH โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น ขณะที่พิเพอรีนไม่มีฤทธิ์ เมื่อพิจารณาจากค่าความเข้มข้นของสารที่สามารถจับกับ อนุมูลอิสระได้ร้อยละ 30 (IC30) จะพบว่าสมุนไพรเดี่ยวที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 5 อันดับแรก ได้แก่ โกฐพุงปลา สมอไทย ลูกจันทน์ จิงจ้อ และดอกจันทน์ ส่วนการบูรและมหาหิงคุ์ไม่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้การศึกษาในเซลล์ NFDH ที่ถูกเหนี่ยวนาให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่นด้วย IL-1 (1 นาโนกรัม/มล.) พบว่าสารสกัดจากตำรับยาที่ความเข้มข้น 10 และ 30 มคก./มล. กรดแกลลิกความเข้มข้น 3 มคก./มล. และ พิเพอรีนความเข้มข้น 30 มคก./มล. มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างสารอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species; ROS) ในเซลล์ NFDH ได้ (8)

  1. ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

เมื่อนำตำรับยาสหัศธารามาสกัดต่อเนื่องด้วยตัวทำละลายที่เป็นเฮกเซน 95% แอลกอฮอล์ และน้ำ ตามลำดับ จากนั้นรวมส่วนสกัดทั้ง 3 ส่วน ทำให้แห้งโดยวิธีสเปรย์ดราย แล้วนำสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารก่อกลายพันธุ์มาตรฐาน 3 ชนิด คือ 2-aminoanthracene (2-AA), 2-amino-fluorene (AF2) และ 4-nitroquinolene-1-oxide (4-NQO) ในเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 ในภาวะที่มีและไม่มีการกระตุ้นด้วยเอนไซม์จากตับหนู (S-9 mix) พบว่าสารสกัดให้ผลต้านฤทธิ์ของสารก่อกลายพันธุ์ทั้ง 3 ชนิด โดยในภาวะที่ไม่มี S-9 mix จะต้านฤทธิ์ของ AF2 ใน TA98 และ TA100 และ 4-NQO ใน TA98 ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 3.9, 4.3 และ 3.7 มก. ตามลำดับ และยังต้านฤทธิ์ของ 2-AA ในภาวะที่มี S-9 mix ทั้งใน TA98 และ TA100 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2 และ 2.3 มก. ตามลำดับ (10)

  1. ฤทธิ์ปกป้องหลอดเลือดและขยายหลอดเลือด

เมื่อป้อนหนูแรทปกติและหนูแรทที่มีความดันโลหิตสูง (spontaneously hypertensive rats) ด้วย ผงตำรับยาสหัศธารา ขนาด 100, 300 และ 1,000 มก./กก./วัน หรือสารพิเพอรีนขนาด 50 มก./กก./วัน เพียงอย่างเดียว หรือให้ร่วมกับสาร L-NAME (สารที่เหนี่ยวนาให้เกิดความดันโลหิตสูง) ที่ผสมในน้ำดื่ม เป็นเวลา 28 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำกลั่น ขนาด 3 มล./กก./วัน พบว่าการให้ตำรับยา สหัศธารา และพิเพอรีนเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ หรือความดันโลหิตค่าบน (systolic blood pressure) แต่ตำรับยาที่ขนาด 100 มก./กก. จะเพิ่มเปอร์เซ็นต์การคลายตัว (% relaxation) ของหลอดเลือดแดงเอออร์ตาต่อสาร acetylcholine ในหนูปกติ ขณะที่ตำรับยาขนาด 300 มก./กก. และพิเพอรีนจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์การคลายตัวของหลอดเลือดทั้งในหนูปกติและหนูที่มีความดันโลหิตสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในหนูปกติและหนูที่มีความดันโลหิตสูงที่ได้รับสาร L-NAME พบว่าตำรับยาและพิเพอรีนมีผล ลดความดันโลหิตที่สูงขึ้นและเพิ่มเปอร์เซ็นต์การคลายตัวของหลอดเลือดได้ในหนูทั้ง 2 กลุ่ม แสดงว่าตำรับยา สหัศธาราไม่มีผลต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในหนูปกติและหนูที่มีความดันโลหิตสูง แต่มีผลขยายหลอดเลือดและปกป้องหลอดเลือดจากการถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร L-NAME ได้ (11)

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบพิษ

การทดสอบความเป็นพิษ

การป้อนหนูแรทปกติและหนูแรทที่มีความดันโลหิตสูง (spontaneously hypertensive rats) ด้วยผงตำรับยาสหัศธารา ขนาด 100, 300 และ 1,000 มก./กก./วัน หรือพิเพอรีนขนาด 50 มก./กก./วัน เป็นเวลา 28 วัน พบว่าผงยาและพิเพอรีนไม่เป็นพิษต่อตับและไต โดยไม่มีผลต่อค่า blood urea nitrogen (BUN), creatinine, AST (aspartate aminotransferase), alanine transaminase (ALT) ในเลือดของหนู และไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวของหนูในทั้ง 2 กลุ่ม (11)

ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดตำรับยาสหัศธารา โดยนาตำรับยามาสกัดต่อเนื่องด้วย ตัวทำละลายที่เป็นเฮกเซน 95 % แอลกอฮอล์ และน้ำ ตามลาดับ จากนั้นรวมส่วนสกัดทั้ง 3 ส่วนทำให้แห้งโดยวิธีสเปรย์ดราย ทดสอบฤทธิ์ในเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 พบว่าสารสกัด ความเข้มข้น 1-10 มก./จานเพาะเชื้อ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในเชื้อทั้ง 2 ชนิด ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีการกระตุ้นด้วยเอนไซม์จากตับหนู (10)

จากข้อมูลรายงานการวิจัย จะเห็นว่ามีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนสรรพคุณของตำรับยาสหัศธารา ในการใช้แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ ให้ผลดีเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำภูมิปัญญาของไทยมาพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนการใช้ตำรับยาไทยทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

  1. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 184 ง วันที่ 10 สิงหาคม 2558.
  2. ปรีชา หนูทิม วารณี บุญช่วยเหลือ ณัฎฐิญา ค้าผล. การเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาแคปซูลสหัศธารากับยาเม็ดไดโคลฟีแนคในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทาง เลือก 2556;11(1):54-65.
  3. Pinsornsak P, Kanokkangsadal P, Itharat A. The clinical efficacy and safety of the Sahastara remedy versus diclofenac in the treatment of osteoarthritis of the knee: A double-blind, randomized, and controlled trial. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine [internet] 2015 [cited 2017 Oct 16]; Article ID 103046:1-8. Available from: http:// dx.doi.org/10.1155/2015/103046.

29 Jul 2018

  1. โสภิดา แก้วนาหลวง. ศึกษาประสิทธิภาพยาสมุนไพรตำรับสหัศธาราในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ คลินิกแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลเถิน จังหวัดลำปาง. บทคัดย่อประกวดผลงานวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 12 2558:75.
  2. ปริยาภัทร สิงห์ทอง วะนิดา ศูนยะราช เพ็ญนภา ไพคานาม. ประสิทธิผลการนวดไทยร่วมกับการใช้ยา สหัศธาราในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อบ่า. วารสารหมอยาไทยวิจัย 2558;3(1):14-26.
  3. Kakatum N. Anti-inflammatory activity of Thai traditional remedy extract for muscle pain treatment called Sahasthara and its plant ingredients. [dissertation] Bangkok: Thammasat University; 2011.
  4. Jaiaree N, Itharat A. Anti-inflammatory effect of a Thai traditional drug for muscle pain treatment via nitric oxide and COX-II inhibitor. Planta Med 2012:78.
  5. Thamsermsang O, Akarasereenont P, Laohapand T, Panich U. IL-1-induced modulation of gene expression profile in human dermal fibroblasts: the effects of Thai herbal Sahatsatara formula, piperine and gallic acid possessing antioxidant properties. BMC Complement Altern Med 2017;17:32.
  6. Nuengchamnong N, Ingkaninan K. An on-line LC-MS/ DPPH approach towards the quality control of antioxidative ingredients in Sahastara. Songklanakarin J Sci Technol 2017;39(1): 123-9.
  7. บังอร ศรีพานิชกุลชัย นิรามัย ฝางกระโทก พร้อมจิต ศรลัมภ์ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. การตรวจสอบฤทธิ์กลายพันธุ์และต้านการกลายพันธุ์ของสารสกัดยาแผนโบราณไทย. วารสารวิจัย มข. 2550;12(4): 492-8.
  8. Booranasubkajorn S, Huabprasert S, Wattanarangsan J, Chotitham P, Jutasompakorn P, Laohapand T, et al. Vasculoprotective and vasodilatation effects of herbal formula (Sahatsatara) and piperine in spontaneously hypertensive rats. Phytomedicine 2017;24: 148-56.

ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU โดยอรัญญา ศรีบุศราคัม สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล