ในช่วงที่มีแดดแรง อากาศร้อน และมีฝนตกบางช่วงของวันแบบนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนเจาะผลทุเรียน มักพบการเข้าทำลายในช่วงที่ต้นทุเรียนอยู่ในระยะพัฒนาผลจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนในระยะนี้ จะพบการเข้าทำลายตั้งแต่ผลทุเรียนยังเล็กอายุประมาณ 2 เดือน จนกระทั่งผลโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ทำให้ผลทุเรียนเป็นแผล ผลอาจเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ หากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล จะทำให้บริเวณนั้นเน่าเมื่อผลสุก โดยจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจนที่บริเวณเปลือกผลทุเรียน เมื่อผลทุเรียนใกล้แก่จะมีน้ำไหลเยิ้ม หนอนจะเข้าทำลายผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกันมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะผีเสื้อตัวเต็มวัยชอบวางไข่ในบริเวณรอยสัมผัสนี้ ถ้าผลทุเรียนที่มีรอยแมลงทำลาย จะส่งผลทำให้ผลผลิตทุเรียนขายไม่ได้ราคา
เกษตรกรควรหมั่นสังเกตตรวจดูผลทุเรียนภายในสวน หากพบรอยทำลายของหนอนเจาะผลทุเรียน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลายทิ้ง จากนั้น ให้ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกัน เกษตรกรควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย และควรเริ่มห่อผลทุเรียนตั้งแต่มีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไปด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่นที่เจาะรูบริเวณขอบล่าง เพื่อให้น้ำระบายออกมาได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายของผลทุเรียนได้
หากพบการระบาดรุนแรงของหนอนเจาะผลทุเรียน ให้เกษตรกรเก็บผลทุเรียนที่เน่าและร่วงจากการเข้าทำลายของหนอนนำไปเผาไฟหรือฝังทำลายทิ้งนอกสวน จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ คือ สารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล สำหรับในแหล่งที่มีการระบาด ให้พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน โดยพ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน
อังคณา ว่องประสพสุข : ข่าว
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2561-2825
เมษายน 2563