เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ณ ด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และพลเอกวัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เยี่ยมชมการฝึกซ้อมรับภัยคุกคามการลักลอบขนถ่ายวัสดุนิวเคลียร์ และการระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี ภายใต้กรอบการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2561 (Crisis Management Exercise 2018 : C-MEX 18) สำหรับการฝึกซ้อมครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดหนองคาย
ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นภารกิจที่สำคัญที่ ปส. ได้ให้ความร่วมมือกับ สมช. ดำเนินการเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากรได้เรียนรู้ ฝึกฝน และพร้อมต่อการจัดการกับสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น รวมทั้งได้ทราบถึงการดำเนินงานที่ถูกต้องตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน ที่ผ่านมาได้มีนโยบายสนับสนุนให้บุคลากรเตรียมความพร้อมกรณีเหตุฉุกเฉินทางรังสีตลอดเวลา และมีการซ้อมอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเราจะมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากลแล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุผิดปกติ รวมทั้งเหตุฉุกเฉินทางรังสีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้การลักลอบนำเข้าวัสดุนิวเคลียร์เพื่อไปใช้ในการทำอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงนั้น สอดคล้องตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงระดับชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาความสามารถของประเทศไทย ในการปกปักรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ของประเทศอย่างครอบคลุม
สำหรับด่านศุลกากรที่มีเครื่องตรวจจับรังสีประจำด่าน (Radiation Portal Monitor หรือ RPM) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 22 สถานีกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีภารกิจสำคัญในการตรวจจับการลักลอบขนถ่ายวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งเมื่อตรวจจับพบจะต้องมีการตอบโต้เกิดขึ้น ได้แก่ การยับยั้ง การยึดและอายัด การอารักขา และการพิสูจน์ยืนยันทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงการประสานงานที่เกี่ยวข้องกับพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคงในการสกัดกั้นการแพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2561 หรือ C-MEX 18 ได้ใช้พื้นที่ภายในด่านศุลกากรหนองคายเป็นสถานที่ฝึกซ้อมประจำปีนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยสำนักงานจังหวัดหนองคาย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศุลกากรหนองคาย ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดหนองคาย หน่วยงานกู้ชีพ กู้ภัยทั้งภาคราชการและเอกชน หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 80 คน ซึ่งผลจากการฝึกซ้อมในครั้งนี้จะสามารถดำเนินการใช้เป็นต้นแบบแนวปฏิบัติให้กับด่านศุลกากรที่เหลืออีกทั่วประเทศต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประสานงานกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ 2418, 3612