เกษตรฯ นัดคณะ Fruit Board หารือแนวทางบริหารจัดการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

กระทรวงเกษตรฯ จัดประชุมคณะกรรมการ Fruit Board ครั้งที่ 3/2563 หารือแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board ) ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามะม่วงซึ่งผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ราว 360,000 ตัน และในปี 2563 ได้มีการคาดการณ์ปริมาณไม้ผลที่จะให้ผลผลิต คือ ทุเรียน 584,712 ตัน มังคุด 201,741 ตัน เงาะ 220,946 ตัน และลำไยภาคเหนือ 350,000 ตัน รวมปริมาณแล้วกว่า 1 ล้านตัน โดยจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันทั้งพืชผัก ไม้ดอก ประมง ปศุสัตว์ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยในส่วนของไม้ผลได้ข้อสรุป 2 มาตรการ

คือ 1) มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้า มี 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤต COVID-19 เป้าหมาย ทุเรียน 20 ตัน มังคุด 20 ตัน, โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First เป้าหมาย 111,000 ตัน, โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจาก COVID-19 เป้าหมาย รับรอง GAP 70,000 แปลง รับรอง GMP 180 โรง และโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ จีน UAE ตุรกี และเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละโครงการจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการกระจายผลผลิตไปยังแหล่งต่าง ๆ และ

2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ

โดยที่ประชุม Fruit Board ได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ (Logistic) และการกระจายผลผลิตผลไม้ไทย 3 เรื่อง คือ

1) การส่งเสริมการส่งออกมะม่วงไปยังตลาดหลัก ได้แก่ เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมะม่วงส่วนต่างที่ต้องสนับสนุนให้มีการส่งออกไปยังเกาหลี จำนวน 3,800 ตัน และประเทศญี่ปุ่น จำนวน 600 ตัน โดยการขนส่งผลไม้ทางอากาศ ขอสนับสนุนค่าชดเชยการระวางสินค้า กิโลกรัมละไม่เกิน 15 บาท ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป้าหมายการดำเนินงาน 4,400 ตัน หรือคิดเป็นเงิน 66 ล้านบาท การขนส่งภายในประเทศทางรถยนต์ ให้มีหน่วยงานรวบรวมในลักษณะตลาดกลาง หรือเป็น Hub เพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศต่อ และขอความร่วมมือบริษัทเอกชนต่าง ๆ ช่วยลดราคาค่าขนส่งผลไม้ลง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เร่งกระจายผลผลิตผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ หรือบริการขนส่งแทนการซื้อขายปกติ

2) การวางระบบขนส่งและกระจายผลไม้ภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกันในเรื่องดังกล่าว เพิ่มเป้าหมายการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้จากเดิม 61,700 ตัน เป็น 200,000 ตัน โดยมีระบบของสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลไม้ 90 จุด เป็นจุดกระจายสินค้าในระดับอำเภอ 824 จุด และมีตลาดชุมชนประจำหมู่บ้านอีก 9,048 แห่ง เพื่อจัดการผลผลิตให้สามารถกระจายได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด และเชื่อมโยงกับระบบร้านธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีอยู่ 50,000 แห่ง มีรถเร่หรือรถพุ่มพวงอีก 300 คัน และจะของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตร 450 ล้านบาท ภายใต้เป้าหมาย 200,000 ตัน และ

3) กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะลงนามความร่วมมือ (MOU) “แนวทางบริหารจัดการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาด COVID-19” ในวันที่ 9 เมษายน 2563 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาทางเลือกในการขนส่งหลาย ๆ ช่องทางทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ เพื่อวิเคราะห์หาจุดคุ้มค่าในการขนส่งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการกระจายสินค้า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะมีกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก สำหรับกระทรวงพาณิชย์จะมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าภายในเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีผู้ให้บริการด้านขนส่งของภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมการค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน สมาคมผู้ประกอบการผักผลไม้ไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยฟินเทค จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในโมเดลเกษตร-พาณิชย์ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลนี้ภายใต้ผลกระทบจาก COVID-19 ให้ได้

ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยสถานการณ์มะม่วง ปี 2563 เกิดปัญหาการส่งออกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้มีการปิดด่านมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ที่เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตมะม่วงหลัก ประกอบกับมะม่วงที่จะส่งออกไปทางเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่เป็นเกรดคุณภาพดีก็มีค่าระวางเครื่องบินสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงการซื้อขายมะม่วงเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งฤดูกาลผลิตมะม่วงในฤดูขณะนี้ก็ใกล้เข้ามาถึงระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) คาดว่าจะมีมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ โดยเป็นพื้นที่ผลิตมะม่วงแปลงใหญ่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตัน ผลผลิตรวม 360,000 ตัน โดยมีผลผลิตในฤดูที่จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) จำนวน 180,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 และคาดว่าจะมีผลผลิตที่ออกมามากในช่วงกลางเดือนเมษายน – กลางเดือนพฤษภาคม จำนวน 80,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 44.44 ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว

********************************
อัจฉรา : ข่าว, เมษายน 2563, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล