กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่อยุธยาพร้อมรองนายกฯ พลเอก ฉัตรชัย เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับมือหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดอยุธยาพร้อมรองนายกฯ พลเอก ฉัตรชัย เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข 5 แนวทางในการรับมือหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ พร้อมเตรียมทีมปฏิบัติการสำหรับการเผชิญเหตุอย่างทันท่วงที สำรองยา และชุดเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า   เมื่อวานนี้กรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพร้อมรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการเตรียมการป้องกันน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำบางบาล อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการเตรียมรับมือป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นลักษณะพื้นที่ราบลุ่ม ลำน้ำที่พาดผ่านจังหวัดเป็นลำน้ำที่เป็นทางรับน้ำที่ถูกระบายออกจากเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนจะระบายสู่อ่าวไทย ซึ่งมีโอกาสจะเกิดน้ำท่วมได้ง่าย จึงจำเป็นที่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือในกรณีเกิดเหตุน้ำท่วม เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันท่วงที  กระทรวงสาธารณสุข จึงได้วางแนวทางในการดำเนินการไว้ 5 แนวทาง ดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  2.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์  3.เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข  4.จัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างเกิดอุทกภัย และ 5.ประเมินผลกระทบและดำเนินการฟื้นฟู

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.เตรียมทีมปฏิบัติการเผชิญเหตุอย่างทันท่วงที ได้แก่ ทีมเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือด้านการแพทย์ (EMS/MERT/MiNi-MERT 18 ทีม) ทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT 17 ทีม) และทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต (16 MCATT)  2.เตรียมอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมเคลื่อนย้ายครุภัณฑ์และเอกสารสำคัญไปยังสถานที่ปลอดภัย โดยให้ รพ.อยุธยา เป็นแม่ข่าย 3.ผู้ป่วยที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยจัดให้มีบริการเยี่ยมบ้าน และจ่ายยาให้เพียงพอจนกว่าจะพ้นสถานการณ์น้ำท่วม ไม่น้อยกว่า 4,306 ราย  4.สำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอจนว่าจะพ้นสถานการณ์น้ำท่วม ไม่น้อยกว่า 15,000 ชุด  5.จัดหาที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำท่วมในที่ปลอดภัย และ 6.สื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือนการเกิดโรคและภัยให้กับประชาชน  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

**************************************************

ข้อมูลจาก: กองควบคุมโรคเเละภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค