เข้มงวดการเคลื่อนย้ายไข่ไก่ ป้องกันโรคระบาดสัตว์ และคุ้มครองผู้บริโภค

กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ ผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมไข่ และล้งไข่ แจ้งขออนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ไก่ตามกฏหมาย เพื่อคุ้มครองชีวิตประชาชนไม่ให้เสี่ยงต่อโรคระบาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ หวั่นมีการลักลอบนำเข้าทำให้เกิดโรคไข้หวัดนก ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเคยประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ปีกและเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คน ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง ผ่านทางไข่ไก่ คน และยานพาหนะขนส่ง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบการโรคระบาดของโรคไข้หวัดนกมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีรายงานการเกิดโรคอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมปศุสัตว์จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ฟาร์มไก่ไข่ ผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมไข่ และล้งไข่ เพื่อการบริโภค ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ มาตรา 8 กำหนดให้ต้องมียานพาหนะและอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายไข่ไก่เป็นการเฉพาะ มาตรา 22 กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้าย และมาตรา 24 กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตค้า

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า การควบคุมเคลื่อนย้ายไข่ นอกจากจะมีประโยชน์ด้านการป้องกัน ควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง เพราะจะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับปริมาณและแหล่งที่มาของไข่ได้จนถึงฟาร์ม กรณีที่ไข่จากฟาร์มหรือศูนย์รวบรวมไข่ถูกส่งไปจำหน่ายแล้วผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาไข่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น ตรวจพบยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในไข่ ที่เกิดจากการเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานหรือจงใจลักลอบใช้ในฟาร์ม ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะดำเนินการสืบสวนที่มาจนถึงแหล่งรวบรวมหรือฟาร์มต้นเหตุเพื่อดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับข้อสงสัยในสื่อโซเชี่ยลบางแห่งว่า กรมปศุสัตว์ไม่อนุญาตให้ผู้ค้าขายไข่ไก่นอกพื้นที่ภาคใต้ส่งไข่ไก่ไปจำหน่ายในภาคใต้ นั้น กรมปศุสัตว์ตรวจสอบแล้วไม่พบกรณีดังกล่าว ตลอดจนไม่ได้ห้ามการเคลื่อนย้ายไข่ไก่ลงไปจำหน่ายในภาคใต้แต่อย่างใด โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ไก่เพื่อการบริโภคไปยังพื้นที่ภาคใต้ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (e-movement) กำหนดให้พื้นที่ต้นทางเป็นจังหวัดนอกพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ปลายทางเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ (พื้นที่ปศุสัตว์เขต 8 และ 9 รวม 14 จังหวัด) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงมีนาคม 2563 พบว่า

– ปี 2561 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 5,883 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 177,735,282 ฟอง   จากจังหวัดต้นทาง 23 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด

– ปี 2562 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 22,499 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 610,048,242 ฟอง จากจังหวัดต้นทาง 33 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด

– ปี 2563 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 7,596 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 161,286,214 ฟอง   จากจังหวัดต้นทาง 22 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด

ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้อำนวยความสะดวกต่อฟาร์มและผู้ประกอบการค้าไข่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน สอบถามข้อคิดเห็นจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมทั้งพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ออนไลน์ ซึ่งเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมไข่ และล้งไข่สามารถออกใบอนุญาตได้เองทั้งในและนอกเวลาราชการ โดยนำลายเซ็นดิจิทัลมาใช้ในการลงนามเพื่อออกใบอนุญาตเพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการให้บริการ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการขอรับบริการจากกรมปศุสัตว์ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ http://aqi.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu-2/royal-menu/19-royal-cat/139-egg-online หากประชาชนหรือผู้ประกอบการรายใด มีความสงสัยหรือข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์      02-501-3473 -5 ต่อ 106 หรือที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0


ข้อมูล/ข่าว : กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ (8 เมษายน 2563)