สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับ ส่วนราชการจังหวัด เอกชนในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ปริมาณน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2563 นี้ โดยมีรายละเอียดการบรรเทาสถานการณ์และมาตรการที่สำคัญ ๆ ได้แก่
พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเติมน้ำ 3 อ่างหลัก พื้นที่ระยอง ชลบุรี สทนช. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อให้ปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซีมีเพียงพอ พร้อมดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่าย เติมปริมาณน้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำหลัก ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ได้แก่
1. อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง
แบ่งปันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันน้ำคลอง
วังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา รวมประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และสร้างระบบสูบกลับชั่วคราว จากคลองสะพานเพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณน้ำประมาณ 0.15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพิ่มอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งดำเนินการซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำในกรณีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณน้ำประมาณ 0.10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะใช้น้ำจากคลองน้ำหู เพื่อช่วยลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ประมาณ 0.05 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
3. อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จังหวัดชลบุรี 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี ลงแม่น้ำบางปะกง สูบต่อไปที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณ 0.18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
เสริม 4 มาตรการรองรับ สร้างความมั่นใจน้ำเพียงพอความต้องการ จาก 3 มาตรการเร่งด่วนเพิ่มปริมาณในอ่างเก็บน้ำหลัก ของพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ดังกล่าว ยังมีมาตรการเสริม 4 มาตรการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นที่ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ได้แก่
1. เร่งเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชน เข้าในระบบน้ำของ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร
2. รณรงค์ความร่วมมือลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ลดลง 10%
3. ลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชน โดยขอความร่วมมือให้เดินระบบ Stand by หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น
4. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ลดการใช้น้ำ 10 %
ครม. ผ่านงบกลาง เร่งเครื่องบรรเทาภัยแล้งในอีอีซี
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ในส่วนของงบกลาง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่อีอีซี โดยได้อนุมัติ งบประมาณจำนวน 180.74 ล้านบาท ให้กรมชลประทานเร่งดำเนิน 11 โครงการ อาทิ โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ไปสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี โครงการแก้มลิง หนองไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และโครงการแก้มลิงคลองมะหาด อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น
รวมทั้งอนุมัติงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านบาท ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 3 โครงการ อาทิ งานขุดขยายเพิ่มความจุสระพักน้ำดิบคลองไผ่ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และงานขุดขยายเพิ่มความจุดสระน้ำดิบบ่อทอง จังหวัดชลบุรี