กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับสถานพยาบาลยาเสพติด
ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ปี พ.ศ. 2546
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในทุกระบบการบำบัดรักษา กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดให้แก่สถานบำบัดทั่วประเทศ จึงได้จัดทำแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับสถานพยาบาลยาเสพติด ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ปี พ.ศ. 2546
ซี่งในสถานพยาบาลยาเสพติด มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้ ขั้นตอนการรับผู้ป่วย ให้คัดกรอง ประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วย ญาติ และผู้นำส่ง ควบคู่กับการคัดกรองการติดยาเสพติด หากพบความเสี่ยงให้ส่งต่อไปยังคลินิก ARI (Acute Respiratory Infection) ของสถานพยาบาลนั้น ทั้งนี้ในระหว่างการประเมินควรให้ผู้ป่วย ญาติ และผู้นำส่ง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกันประมาณ 1 -2 เมตร สำหรับเจ้าหน้าที่ให้สวมหน้ากากอนามัย และ/หรือ Face shield ด้วย ใช้เวลาในการซักถามให้น้อยที่สุด หากมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการประสานหรือให้การช่วยเหลืออื่น ควรใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ควรให้ความรู้ความเข้าใจ กับผู้ป่วยและญาติเรื่องการป้องกันการติดและแพร่กระจายเชื้อ COVID – 19 ขั้นตอนการบำบัดฟื้นฟู งดเว้นการบำบัดฟื้นฟูในรูปแบบกลุ่มบำบัด ทั้งในผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งการบำบัดแบบค่าย/ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการบำบัดรูปแบบอื่นที่เป็นการรวมกลุ่มผู้ป่วย เว้น/ยืดหยุ่นระยะเวลาการนัดผู้ป่วยมาสถานพยาบาล และใช้วิธีการช่วยเหลือ/บำบัดผ่านช่องทางการสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์ การเยี่ยมบ้านโดย รพ.สต. หรือ อสม เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ/บำบัด ให้ใช้วิธีการแบบรายบุคคล และใช้อุปกรณ์ป้องกัน ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องต้องรับยาต่อเนื่อง ให้ใช้ระบบบริหารจัดการเดียวกับการรับส่งยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังของสถานพยาบาลนั้นๆ ในกรณีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน ควรใช้ระบบป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อเช่นเดียวกับ กลุ่มเสี่ยง/สัมผัสโรค COVID – 19 ขั้นติดตามการรักษา งดการนัดผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาล และติดตามดูแลช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ ไลน์ รวมทั้งการติดตามโดยใช้เครือข่ายชุมชน หรือ อสม. ในเขตพื้นที่
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ปี พ.ศ. 2545 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จากโอกาสการรับเชื้อในระหว่างการควบคุมตัว ในระยะเวลารอตรวจพิสูจน์ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้ ควรชะลอการรับผู้ป่วยใหม่ ในกรณีจำเป็นต้องรับผู้ป่วยใหม่ ให้คัดกรอง ประเมินความเสี่ยงของติดเชื้อ ทั้งผู้ป่วย ญาติและผู้นำส่ง ควบคู่กับการซักประวัติการติดยาเสพติด รวมทั้งประวัติการถูกกักกันตัวในสถานที่รอตรวจพิสูจน์ ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา หากพบว่ามีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ หรือสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ควรปรับแผนการรักษาเป็นแบบไม่ควบคุมตัว ทั้งนี้ในผู้ป่วยรับใหม่ทุกราย ควรเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยการให้สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา แยกพื้นที่เรือนนอน เว้นระยะห่างระหว่างเตียงอย่างน้อย 1-2 เมตร แยกอุปกรณ์เครื่องใช้ แยกรับประทานอาหาร และให้วัดไข้ ประเมินอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ เป็นระยะเวลา 14 วัน งดญาติเยี่ยม และงดกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ เพิ่มช่องทางการเยี่ยมผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ หรือ Video call เป็นต้น ทั้งนี้ ควรสร้างควมรู้ความเข้าใจเรื่องการเฝ้าระวังและการป้องกันการติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในกลุ่มกลุ่มผู้เข้ารับการฟื้นฟู และเจ้าหน้าที่ผู้ให้การบำบัดฟื้นฟู การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และให้ใช้หน้ากากอนามัย /หน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และการแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ภายในศูนย์ฟื้นฟู หากประสบปัญหาด้านยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 และ www.pmnidat.go.th
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี # COVID-19