นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ส่งผลให้สถานพยาบาลมีความจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบพิเศษตลอดจนเครื่องมือแพทย์ต่างๆในการให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการ ทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ในการนี้ร่างประกาศฯดังกล่าวได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 โดยสำนักงานฯ จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลในหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐ
ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้ ค่าตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรห้องปฏิบัติการในอัตราไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท และจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ครั้งละไม่เกิน 540 บาท
ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้
– ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษาตามมาตรฐานและค่าอาหารไม่เกินวันละ 2,500 บาท
– ค่าบริการทางการแพทย์คำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG)ในอัตรา 12,000 บาท ต่อหนึ่งน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับตามวันนอน (AdjRW)
– ค่ายาต้านไวรัสไม่เกิน 7,200 บาท ต่อราย
– ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่เกินครั้งละ 2,500 บาท
– ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล(PPE)ตามอาการของผู้ป่วย กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง จ่ายไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด กรณีอาการรุนแรงจ่ายไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด
2. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชน สำนักงานฯ จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์สอบสวน โรคติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยสำนักงานฯ จ่ายให้สถานพยาบาลเอกชน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
3. ค่าพาหนะ ในกรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกันจ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่นจ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 6 บาท ทั้งยังจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล(PPE)และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง
4. กรณีที่สำนักงานฯ เห็นว่าผู้ประกันตนสมควรได้รับค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือจากที่กำหนด สำนักงานฯ จะต้องจ่ายภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ เจ็บคอ ไอหรือมีอาการอื่นๆ ร่วม ในเบื้องต้น ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกไว้ เนื่องจากหากไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 หรือไม่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถ รักษาอาการ ของโรคที่เป็นได้เลย แต่หากผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกได้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่สะดวกได้ทั้ง รัฐและเอกชน และหากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็สามารถรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลนั้นได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสถานพยาบาลที่รักษา จะเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานประกันสังคมได้ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น
นายทศพลฯ เปิดเผยว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วย ด้วยโรคโควิด-19 นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทั้ง 3 หน่วยงานคือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ได้ตกลงร่วมกันในการให้การตรวจรักษาแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 หน่วยงาน ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ทุกด้านเพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อไป ตนขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนทุกท่านและพร้อมพัฒนางานของประกันสังคม ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานการพัฒนาแบบยั่งยืนให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพ ของผู้ประกันตนต่อไป