สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.และพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมปฏิบัติการ ‘คนไทยไม่ทิ้งกัน’ ร่วมปันน้ำใจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 มอบอาหารข้าวสารแห้งให้กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ผลิตหน้ากากอนามัยแจกชาวชุมชนกว่า 1 ล้านชิ้น รวมทั้งช่วยเกษตรกรเปิดตลาดสินค้าออนไลน์ กระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ขณะที่เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมสนับสนุนการดับไฟป่า
จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วประเทศไทย ทำให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ติดตามมา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ-รายได้ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน และกลุ่มประชาชนที่ด้อยโอกาส เช่น คนไร้บ้าน ซึ่งมีทั้งผู้ที่อยู่อาศัยภายในศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู กรุงเทพฯ รวมทั้งคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางพิษโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจที่แพร่กระจายไปทั่ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้รวมพลังกันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้
ปันน้ำใจมอบอาหารสิ่งของเครื่องใช้ให้คนไร้บ้าน
บ้านโฮมแสนสุข อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในภาคอีสาน (ได้รับงบสนับสนุนการก่อสร้างจากรัฐบาลผ่าน พอช.) มีสมาชิกคนไร้บ้านอยู่อาศัยจำนวน 24 คน สมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำงานก่อสร้าง เก็บขยะรีไซเคิลขาย เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ ฯลฯ และขายสินค้ามือสอง เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้คนไร้บ้านที่จังหวัดขอนแก่นได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากมีการจ้างงานน้อยลง เก็บขยะรีไซเคิลได้น้อย ร้านรับซื้อของเก่าปิด คนไร้บ้านจึงขาดรายได้ ไม่มีเงินที่จะไปซื้อข้าวปลาอาหาร
จากปัญหาดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นแกนกลางในการรับบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นเพื่อนำไปจัดทำครัวกลางให้พี่น้องบ้านโฮมแสนสุข โดยได้รับเงินบริจาครวม 17,411 บาท และข้าวสาร 1 ถุง นำไปมอบให้แก่สมาชิกบ้านโฮมแสนสุขเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา
นางสาวดวงใจ หงษ์กา ตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข บอกว่า ตอนนี้กลุ่มคนไร้บ้านที่นี่คงจะมีอาหารทำกินไปได้ระยะหนึ่ง แต่หากไวรัสยังแพร่ระบาดอยู่ คนไร้บ้านก็จะต้องลำบากเหมือนเดิม เพราะออกไปทำมาหากินไม่ได้ ดังนั้นพวกเราจึงอยากจะมีอาชีพที่มีรายได้มาซื้อข้าวสารและอาหารเพื่อทำกินเลี้ยงดูกันในระยะยาว ส่วนอาชีพเสริมที่ทำอยู่เช่น พวงกุญแจ โมบาย ตอนนี้มีออร์เดอร์น้อยลง จึงอยากจะให้หน่วยงานต่างๆ มาช่วยเรื่องอาชีพ
นายเดชา จึงอุดมชัย ตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน ‘บ้านเตื่อมฝัน’ (ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บอกว่า ตอนนี้ที่บ้านเตื่อมฝันมีสมาชิกคนไร้บ้านอยู่อาศัย 30 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บของเก่าหรือขยะรีไซเคิล ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน เพราะปกติคนไร้บ้านจะออกไปเก็บของเก่าช่วงเวลากลางคืน แต่เมื่อมีการเคอร์ฟิวส์ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ทำให้คนไร้บ้านออกไปหาของเก่าไม่ได้ หากจะไปช่วงเช้า รถเก็บขยะของเทศบาลก็จะเก็บไปก่อนแล้ว ทำให้เก็บของเก่าได้น้อยลง และของเก่าตอนนี้ก็มีราคาถูกกว่าเดิม ทำให้มีรายได้น้อยลงด้วย
“นอกจากนี้เมื่อพวกเราออกไปหาของเก่าในตอนเช้า คนทั่วไปเมื่อเห็นพวกเราก็จะกลัวว่า พวกเราจะมาแพร่เชื้อ ทั้งที่ตอนนี้พวกเราก็ใส่หน้ากากป้องกันทุกคน เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับแจกมา แต่ก็ยังไม่พอใช้ บางคนต้องใช้ซ้ำถึงอาทิตย์หนึ่งจึงจะเปลี่ยน ส่วนเรื่องอาหารการกิน ตอนนี้เรามีไข่ไก่ประมาณวันละ 10 ฟองจากแม่ไก่ที่เลี้ยงเอาไว้ 20 ตัว มีผักคะน้า ผักกวางตุ้งที่ปลูกเอาไว้ และมีข้าวสาร อาหารแห้งที่มีผู้มามอบให้ แต่ยังไม่พอเพียง เพราะเรามีสมาชิก 30 คน ต้องใช้เงินสำรองจากกองทุนสวัสดิการที่พวกเราร่วมกันสะสมเอาไว้แก้ขัดก่อน” ตัวแทนคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่บอก
ขณะเดียวกัน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคเหนือ ได้ประสานงานเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของให้แก่กลุ่มคนไร้บ้านบ้านเตื่อมฝัน และนำอาหารแห้งและเครื่องใช้จำเป็นบางส่วนไปมอบให้เมื่อวันที่ 5 เมษานที่ผ่านมา โดยสิ่งของที่คนไร้บ้านต้องการในขณะนี้ คือ อาหารแห้งและเครื่องปรุงสำหรับสนับสนุนระบบครัวกลางในการทำอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโควิด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ยาสามัญประจำบ้านและยารักษาโรคที่จำเป็น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ฯลฯ
ส่วนที่ ‘ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู’ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่สำนักงานบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดรับบริจาคได้เงินจำนวน 14,091 บาท นำไปมอบให้แก่ตัวแทนคนไร้บ้าน เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 7,862 บาท ( ส่วนที่เหลือ 6,229 บาท นำไปสมทบให้คนไร้บ้านบ้านเตื่อมฝัน จ.เชียงใหม่) เพื่อสนับสนุนการจัดทำครัวกลางสำหรับคนไร้บ้านประมาณ 70 คน โดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัม 4 ภาค สสส. ร่วมสนับสนุนการจัดทำครัวกลางด้วย
พี่น้องเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 49 จังหวัดผลิตหน้ากากอนามัยแล้วกว่า 5 แสนชิ้น
จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด -19 แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย ทำให้หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไวรัสเกิดความขาดแคลน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้าป้องกันการแพร่เชื้อเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ (6 เมษายน) ผลิตได้แล้วจำนวน 584,289 ชิ้น จากเป้าหมายทั้งหมด 1,482,500 ชิ้น โดยมีกลุ่มและองค์กรที่ร่วมผลิตประมาณ 200 กลุ่ม ใน 49 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้กลุ่มและขบวนองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศยังร่วมกันแบ่งปันน้ำใจและดูแลประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ เช่น ขบวนจังหวัดอ่างทอง นำไข่ไก่จากขบวนเครือข่ายฯ มาจำหน่ายให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย หากนำถุงมาใส่เองขายแผงละ 90 บาท ไม่มีถุงขายแผงละ 95 บาท
สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงวังน้อย จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ อบต.วังน้อยและ อสม. ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองวัดไข้ชาวชุมชนและแจกหน้ากากอนามัยกว่า 1,000 ชิ้น
กองทุนสวัสดิการวันละบาท เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตวังทองหลาง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการป้องกันการติดเชื้อโควิด มอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้สูงอายุและผู้ที่ถูกปิดงาน และหน้ากากอนามัยครอบครัวละ 3 ชิ้น พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่ว่างในชุมชนเพื่อปลูกผักทำ ‘แปลงเกษตรคนจนเมือง’ ฯลฯ
ช่วยเกษตรกรผ่าวิกฤตโควิด-19 หนุนสินค้าชุมชนผ่านตลาดออนไลน์
นอกจากความร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ดังกล่าวแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย เช่น ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายอื่น รวม 12 องค์กร จัดทำแผนงาน ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ โดยใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ สร้างความรู้ รณรงค์ ป้องกัน เฝ้าระวัง และเตรียมแผนงานรองรับผู้ได้รับผลกระทบผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่สถาบันดำเนินการอยู่ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย สภาองค์กรชุมชนตำบล เศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ
ตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชน ขณะนี้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เช่น ‘กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มะม่วงวิสาหกิจชุมชนมะม่วงมหาชนก’ ต.หนองหิน อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ผลิตมะม่วง ‘มหาชนก’ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP จากที่เคยผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายสิบล้าน แต่ปัจจุบันผลผลิตไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ เพราะวิกฤตกระทบกันเป็นลูกโซ่ จากเกษตรกรผู้ผลิตที่เป็นต้นทาง จนถึงบริษัทส่งออกที่ไม่สามารถจัดการส่งออกได้
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่มีอยู่กระจายข่าวสารไปยังเครือข่าย ขบวนองค์กรชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องเหล่านี้ได้สั่งซื้อมะม่วงจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรง เป็นการเพิ่มช่องทางการค้าในตลาดออนไลน์ (ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อมะม่วงมหาชนกเกรด A บรรจุลงกล่องๆ ละ 10 กิโลกรัม ราคา 350 บาท รวมค่าจัดส่ง โดยเกษตรกรจะคัดคุณภาพส่งตรงถึงบ้าน ติดต่อได้ที่ นายชวาร สอนคำหาร โทร 080-7662040 ประธานกลุ่มฯ)
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรจากพื้นที่ต่างๆ เช่น ลิ้นจี่จากไร่ลุงชู บ้านหนองเสือคราง ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย ‘ลิ้นจี่สดจากต้น สั่งลิ้นจี่ชิมอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ , ‘น้ำพริกสู้โควิด-19’ กลุ่มแม่บ้านตำบลคลองวัว จ.อ่างทอง ฯลฯ ซึ่งสินค้าต่างๆ นอกเหนือจากนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กำลังรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศเพื่อนำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ เป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้ตลาดออนไลน์กระจายสินค้าชุมชนสู่มือผู้บริโภคโดยตรงต่อไป
สภาองค์กรชุมชนร่วมสนับสนุนการดับไฟป่าภาคเหนือ
จากปัญหาควันฝุ่นที่เกิดจากการเผาป่าและไฟป่าในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งประสบปัญหาฝุ่นควันซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่าและการเผาป่ามานานนับ 10 ปี และสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นในช่วงปี 2560-2561 ภาคประชาสังคมจึงเกิดการตื่นตัว และร่วมกันแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด โดยมีการขับเคลื่อนในนาม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตื่นตัว และแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ
นายอุดม อินจันทร์ รองประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งแล้วใน 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาในระดับตำบลตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา โดยร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ ลงพื้นที่ในอำเภอต่างๆ รวม 32 ตำบล เพื่อจัดเก็บข้อมูลปัญหา รับฟังความเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ และเสนอทางออก โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อน มีการเสนอแนวทางต่างๆ เช่น
1.การสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้คนที่มีอาชีพหาของป่า เช่น การเพาะผักหวาน เพาะเห็ดป่า เลี้ยงมดแดงในสวนและพื้นที่สาธารณะของชุมชน ป้องกันไม่ให้เผาป่าเพื่อให้เห็ดออก 2. สนับสนุนให้คนหาของป่ามีส่วนรับผิดชอบพื้นที่ป่า 3.การบริหารจัดการเผา-จัดการเชื้อเพลิง การจัดการฟาง นำมาทำปุ๋ย ใบไม้นำมาเข้าเครื่องบีบอัดเป็นจานหรือภาชนะใส่อาหาร 4.การทำฝายชะลอน้ำ กักเก็บน้ำในดินเพื่อให้ป่าชุ่มชื้น ฯลฯ
“นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ทำให้อาสาสมัครที่ไปช่วยดับไฟ เสียชีวิต จำนวน 3 คน และบาดเจ็บอีกหลายราย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัย รวมทั้งมอบสิ่งของ อาหาร และเครื่องดื่มให้แก่ทีมอาสาสมัครดับไฟป่าในพื้นที่ต่างๆ ด้วย” นายอุดมกล่าว
ทั้งนี้มีสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมสมทบสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่า เช่น สภาองค์กรชุมชน ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ มอบอุปกรณ์ช่วยดับไฟ ยาเวชภัณฑ์ น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารแห้ง/กระป๋อง และสิ่งของจำเป็นอื่น, สภาองค์กรชุมชน อ.พร้าว, ต.ฮอด อ.ฮอด, ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง, ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง มอบอุปกรณ์ช่วยดับไฟ ยาเวชภัณฑ์ น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารกระป๋อง
สภาองค์กรชุมชน ต.แม่สอย ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง, ต.สะเมิงใต้ และหมู่บ้านชาติพันธุ์ อ.สะเมิง มอบอาหารกระป๋อง/แห้ง และอาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเปล่า แป้งโยคี น้ำเกลือ ไซริงจ์ เจล หน้ากากอนามัย เกลือแร่ ผ้าเย็น สเปรย์ และยาหยอดตาสมุนไพร ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของปฏิบัติการ ‘คนไทยไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในยามวิกฤต แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พี่น้องขบวนองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่าย จะต้องร่วมกันสรุปบทเรียน วางแผน และปฏิบัติการจริง เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาระยะยาว…ต่อไป !!