สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ขมิ้นชัน …แค่ต้มก็เสริมภูมิคุ้มกัน โดย ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

“ขมิ้นชัน” นอกเหนือจากสรรพคุณเด่นต่อทางเดินอาหารแล้ว ขมิ้นชันยังช่วยบรรเทาอาการของระบบทางเดินหายใจด้วย โดยเฉพาะภูมิแพ้ จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร การรับประทานขมิ้นชัน เป็นประจำก็จะช่วยให้โรคภูมิแพ้ดีขึ้น จากการรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ รวมไปถึงมีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน ปัจจุบันในตำราสมุนไพรจากต่างประเทศได้ให้การยอมรับว่า “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อคนที่เป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืด

จากการสืบค้นงานวิจัยของ “ขมิ้นชัน” พบว่า สารเคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการต้านไวรัส รวมถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ ไข้หวัดนก

ล่าสุด (มีนาคม 2563) จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสารสำคัญในสมุนไพรหลากหลายชนิด ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยประเทศอินโดนีเซีย พบว่า สารเคอร์คูมิน ในขมิ้นชัน มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้

การศึกษาในปี 2560 พบว่า สารสกัดน้ำของขมิ้นชัน ที่มีการควบคุมปริมาณสารสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโพลีแซคคาไลด์ (Polysaccharide) มีฤทธิ์ปรับปรุงภูมิคุ้มกัน (Immunomodulation) และมีผลให้เทโลเมียร์ที่สั้นลงกลับไปยาวใหม่ [เทโลเมียร์ เป็นดัชนีกำหนดความแก่ของเซลล์ ยิ่งสั้นยิ่งแก่ ]

จากงานวิจัยดังกล่าวเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากสารสกัดน้ำขมิ้นชัน ยังมีส่วนประกอบของสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ชะเอมเทศ ขิง ดอกเห็ดหลินจือ อบเชย สารสกัดไมซีเลียม พริกไทย

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้สมุนไพรขมิ้นชันที่มีมากในประเทศของเรา เราอาจนำขมิ้นชันมาต้มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันได้ โดยไม่ต้องใส่สมุนไพรอื่นก็ได้ เพราะเพียงแค่ขมิ้นชันก็มีประโยชน์มากโขแล้ว

สูตรน้ำขมิ้นชัน

วัตถุดิบ

  1. ขมิ้นสด 3 – 4 หัว หรือ เงี่ยงที่ยาวประมาณ 3 ข้อนิ้วมือ
  2. น้ำตาลกรวด 30 กรัม
  3. น้ำผึ้ง 2 ช้อนชา
  4. น้ำสะอาด 1 ลิตร
  5. ขิงแก่ซอย 1 หยิบมือ
  6. พริกไทยล่อน 14 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. นำขมิ้นสดมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาตำให้แหลก แล้วกรองเอาแต่น้ำด้วยผ้าขาวบาง
  2. นำน้ำสะอาด 1 ลิตร กับน้ำขมิ้นที่กรองไว้มาต้ม โดยใช้ไฟปานกลาง ต้ม 3 เอา 1
  3. ซอยขิงแก่และบดพริกไทย นำไปต้มกับน้ำเล็กน้อยให้พอเดือดเล็กน้อย แล้วยกลง
  4. นำน้ำขมิ้นที่ต้มได้ มาปรุงรสด้วย น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด และน้ำต้มขิงกับพริกไทยที่ต้มแยกไว้ อาจเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมขึ้นอีกด้วยการใส่เกลือเพิ่มเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงไม่ควรปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือเกลือ

อ่านเพิ่มเติม
1.Soheil ZM, Habsah AK, Pouya H, Hassan T, Sazaly A, Keivan Z. 2014. A Review on Antibacterial, Antiviral, and Antifungal Activity of Curcumin. BioMed Research International; Article ID 186864, 12 http://dx.doi.org/10.1155/2014/186864.
2.Trong TD, Phi HN, Ho KW, Eun HK, Junsoo P, Boo YW, Won KO. 2012. Curcuminoids from Curcuma longa and their inhibitory activities on influenza A Neuraminidases. Food Chemistry; 134: 21–28.
3. Maheswata S, Lingaraja J, Surya NR, Satish K. 2016. Identification of Suitable Natural Inhibitor against Influenza A (H1N1) Neuraminidase Protein by Molecular Docking. Genomics & Informatics; 14(3):96-103. http://dx.doi.org/10.5808/GI.2016.14.3.96
4. Chen TY, Chen DY, Wen HW, Ou JL, Chiou SS, et al. 2013. Inhibition of Enveloped Viruses Infectivity by Curcumin. PLoS ONE 8(5): e62482. doi:10.1371/journal.pone.0062482
5. Khaerunnisa, S, Kurniawan, H, Awaluddin, R, Suhartati S, Soetjipto S. Potential Inhibitor of COVID-19 Main Protease (Mpro) From Several Medicinal Plant Compounds by Molecular Docking Study. Preprints 2020, 2020030226 (doi: 10.20944/preprints202003.0226.v1).
6.Pan MH, Wu JC, Ho TC, Badmaev V. 2017. Effects of water extract of Curcuma longa (L.) roots on immunity and telomerase function. Journal of Complementary and Integrative Medicine; 20150107.