3 เมษายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19’ ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยหน่วยงานด้านนโยบายต่างๆ ได้อธิบายภาพความร่วมมือระหว่างกันและบทบาทในการสนับสนุนงานในพื้นที่
นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดตอนนี้กำลังมุ่งสู่ต่างจังหวัด ในส่วนของสาธารณสุขนั้นได้จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ในทุกจังหวัดเพื่อประสานความร่วมมือต่างๆ โดยระดับย่อยสุดคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีราว 1 ล้านคน เคาะประตูให้ความรู้ประชาชน นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสรรงบให้อำเภอทุกแห่งแห่งละ 100,000 บาท ในสถานการณ์เช่นนี้ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สามารถนำมาใช้จัดประชุมปรึกษาหารือในทุกตำบลเพื่อให้เกิดการบูรณาการงานร่วมกัน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โควิด19 กำลังเดินทางจาก กทม.และเมืองใหญ่เข้าสู่ชุมชนทุกบ้าน เพราะลูกหลานกำลังกลับมาจากการปิดงาน ขณะที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากคือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ถ้าติดไวรัสจะป่วยหนักต้องนอนโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงต้องมีมาตรการป้องกันของประชาชนในพื้นที่
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวต่อว่า ตอนนี้หลายพื้นที่ได้สร้างระบบเพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วม หรือที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19’ ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่า อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครอบครัว ประชาชนแต่ละคนต้องทำอย่างไร ส่วนเนื้อหาของข้อตกลงประกอบด้วยอย่างน้อย 5 เรื่อง คือ 1.การจัดกระบบข้อมูลการรับรู้ของประชาชนที่ถูกต้อง 2.การจัดระบบดูแลกลุ่มแพร่เชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัมผัสโรคมาก่อน กลุ่มตรวจเจอเชื้อ ต้องมีระบบการกักกันดูแลให้พวกเขาอยู่ได้ครบ 14 วัน 3.มาตรการดูแลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อ เช่น คนแก่ เด็ก คนป่วย 4.รายละเอียดอนามัยส่วนบุคคลและครอบครัว 5.การร่วมด้วยช่วยกัน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดความร่วมมือในพื้นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดวงปรึกษาหารือ ในสถานการณ์ที่ต้องรักษาระยะห่าง การจัดวงหารือจึงไม่จำกัดรูปแบบ วิธีการ อาจใช้วิดีโอคอลหรือแอพลิเคชันต่างๆ แทนก็ได้เพราะมุ่งเน้นวงเล็กที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ สช.ได้จัดทำคู่มือเพื่อให้พื้นที่ต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการจัดกระบวนการในพื้นที่ด้วย “มีตัวอย่างธรรมนูญที่หลายที่ทำไว้แล้ว สามารถนำไปใช้ในการรับฟังความเห็นของประชาชนได้ แล้วนำไปมาสู่ฉันทามติร่วมกัน และ สช.ยังตั้งศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่ด้วย” นพ.ปรีดา กล่าว
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทุกพื้นที่จะมีกองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือ กองทุนตำบล เพื่อให้ชุมชนใช้ในการดูแลสุขภาพและสาธารณสุขในชุมชน ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สปสช.ได้ออกหนังสือแจ้งกรรมการและประธานกองทุนถึงแนวทางในการใช้งบประมาณว่าสามารถใช้ได้เพื่อ 1.รณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันโควิด19 2.การจัดหาหรือจัดทำอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ 3.คัดกรองกลุ่มเสี่ยงและการติดตามเฝ้าระวัง 4.งบในการลงเยี่ยมติดตามคนที่เข้าข่ายต้องเก็บตัวที่บ้าน 14 วัน “เท่าที่มีการรายงานตอนนี้ มีกองทุนที่นำไปใช้ในส่วนนี้แล้ว 2,000 กว่าแห่ง ใช้งบไป 300 กว่าล้านบาท จากทั้งหมดที่มีกว่า 7,000 กว่าแห่ง ปีหนึ่งๆ มีงบ 3,000 – 4,000 ล้าน” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกรมได้ดำเนินการหลายอย่าง เช่น 1.ประสานให้ อปท.จัดทำหน้ากากผ้าให้ประชาชนซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ถึง 47 ล้านชิ้น 2.บุคลาการของ อปท.เป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีหน้าที่ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 3. สนับสนุนค่าอาหาร 3 มื้อสำหรับเจ้าหน้าที่และสำหรับบุคคลที่ถูกกักกตัว 14 วัน 4.ช่วยหาสถานที่ทำ รพ.สนาม สำหรับดูแลผู้ป่วย 5.เตรียมความพร้อมในการจัดการขยะติดเชื้อ
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กล่าวว่า พอช.พยายามจะออกแบบสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ภายใต้งบประมาณนี้ปีนี้รวม 1,121 ล้านบาท โดยผ่านงบเสริมสร้างความสามารถของสภาตำบล 3,131 แห่ง แม้ไม่สามารถครอบคลุมทั้งหมด แต่เมื่อร่วมมือกับ 8 ภาคีแล้ว สามารถเชื่อมโยงภารกิจไม่ให้พื้นที่ซ้ำกันได้ ทั้งนี้ ยกตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนว่าเป็นงบด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน ซึ่งประชาชนจำเป็นต้องแปลงงบนำสู่การปรับแผนรองรับผลกระทบของตนเอง ปรับจากแผนเรื่องคุณภาพชีวิตมาเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งหลายพื้นที่ปรับแผนมาทำเจล ทำหน้ากากไปแล้ว 46 จังหวัด
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 10 ยกตัวอย่างการดำเนินงานของจังหวัดอุบลราชธานีที่มีการทำธรรมนูญพื้นที่แล้วหลายสิบตำบล ด้วยกลไกที่มีอยู่ ทั้งสมัชชาสุขภาพจังหวัด คณะกรรมการเขตสุขภาพประชาชน รวมถึงการทำธรรมนูญตำบลและหมู่บ้าน ทำงานร่วมกับ พชอ.และประสานหน่วยงานรัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังประสาน สปสช.เขต 10 เพื่อดึงกองทุนตำบลมากระตุ้นให้ท้องถิ่นคิดกิจกรรมร่วมกับภาคส่วนอื่น ส่วนการทำธรรมนูญของพื้นที่นั้น มี 3 เรื่องหลัก คือ 1. มาตรการการดูแลตนเอง การกักตัว 14 วัน และการติดตาม 2. วิธีปฏิบัติในงานบุญ งานบวช งานศพ งานประเพณี ร้านค้าต่างๆ ในชุมชน 3. เศรษฐกิจ คนที่อพยพมาจากกรุงเทพฯ ตกงาน ก็ได้หารือร่วมกับพัฒนาสังคมและผู้ว่าฯ จัดงบประมาณพัฒนาอาชีพส่งเสริมรายได้ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับข้อกำหนดในการดูแลสุขภาพ “สช. เป็นเพียงผู้บูรณาการ แต่องค์กรอื่นต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมเชื่อว่าวิกฤตนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างให้คนอุบลฯ คนอีสานใต้ได้กลับมาพัฒนาชุมชน ทำให้เจริญขึ้นและมีความสุขมากขึ้น” นพ.นิรันดร์ กล่าว