นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ควบคู่กับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน แต่ปัญหาภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร
สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เคยตกเป็นปกติถึง 1,500 มิลลิเมตรต่อปี จะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเพียง 800 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 23 จังหวัด 141 อําเภอ 728 ตําบล 3 เทศบาล 6,188 หมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้บูรณาการความร่วมมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่แล้ว
ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณให้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร / โครงการน้ำบาดาลระดับลึกเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำบาดาลกร่อยเค็ม / โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 / โครงการเจาะบ่อน้ำบาดาลเสริมให้กับแหล่งน้ำดิบเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง / โครงการศึกษาการพัฒนา น้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน / โครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลัก ทั่วประเทศ / โครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ / โครงการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ Riverbank Filtration / โครงการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 2,029 แห่ง หรือ 2,228 บ่อ ขณะนี้ดำเนินการเจาะเสร็จสิ้นแล้ว 1,029 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 46.2 คงเหลืออีก 1,199 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 53.8 ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ 298,872 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 63,200 ไร่ และมีปริมาณน้ำรวม 206.54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานข้างต้นแล้ว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของกิจกรรม CSR ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 119 บ่อ เป่าล้างบ่อน้ำบาดาล 281 บ่อ ซ่อมแซมระบบประปาบาดาล 249 แห่ง ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ 345 แห่ง และแจกจ่ายน้ำบาดาลสะอาดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำไปแล้ว 7,424,821 ลิตร