กรมอนามัย แนะ ท้องถิ่นคุมเข้มน้ำประปาช่วง COVID-19 ตามคำแนะนำ WHO

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุม กำกับ ดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาให้สะอาด ปลอดภัยตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสโคโรน่าในน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปาหรือน้ำบริโภค เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีเยื่อหุ้มที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่ายจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไวรัสโคโรน่าในน้ำประปาจึงค่อนข้างต่ำ แต่องค์การอนามัยโลก ก็ได้ให้คำแนะนำในการจัดการน้ำสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน โดยเฉพาะระบบการผลิตน้ำประปาให้มีการควบคุม กำกับ ดูแลและเฝ้าระวังตามปกติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบกำจัดเชื้อโรคในกระบวนการผลิตน้ำประปาต้องเพิ่มความเข้มงวดให้มากกว่าเดิม กรมอนามัยจึงได้จัดทำคำแนะนำในการดูแลคุณภาพน้ำประปา เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการควบคุม กำกับ ดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ในช่วงการเกิดโรคติดเชื้อ COVID–19 ดังนี้ 1) แหล่งน้ำดิบ ดูแลรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำดิบตามปกติ เพิ่มความเข้มงวดไม่ให้มีขยะโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว บริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำดิบ หากพบต้องดำเนินการกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลทันที 2) ระบบผลิตน้ำประปา ควบคุมกระบวนการผลิตตามแนวทางปกติ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำประปาตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และเข้มงวดในการควบคุมค่าความขุ่นให้น้อยกว่า 1 NTU และค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ให้ได้ตามมาตรฐานแต่ไม่เกิน 8.0 เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ที่สำคัญเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของคลอรีนในกระบวนการฆ่าเชื้อโรคให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่ต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm.) ที่ต้นทางของน้ำประปา

3) ระบบการจ่ายน้ำ ดูแลระบบท่อจ่ายน้ำไม่ให้แตก รั่ว หากพบให้ดำเนินการซ่อมแซมทันที เข้มงวดการระบายน้ำทิ้งหลังจากการซ่อมแซม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในระบบจ่ายให้มีคุณภาพคงที่อยู่เสมอ และเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในระบบจ่ายน้ำจนถึงบ้านผู้ใช้น้ำ ให้มีไม่ต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm.) 4) เจ้าหน้าที่ดูแลกระบวนการผลิตน้ำประปา ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กินอาหารร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างในการติดต่อประสานงานกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร คัดกรองและเฝ้าระวังอาการป่วยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตน้ำประปา โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเวลาปฏิบัติงานและสังเกตอาการ หากมีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก ครั่นเนื้อตัว ให้หยุดปฏิบัติงาน แจ้งหน่วยงานและไปพบแพทย์ และ 5) อาคารสถานที่ผลิตน้ำประปา ต้องดูแลรักษาความสะอาดของอาคารสถานที่ผลิตน้ำประปาให้สะอาดอยู่เสมอ ตามมาตรการ 5 ส. และเข้มงวดการทำความสะอาดตามจุดเสี่ยงที่ใช้ร่วมกัน ได้แก่ ลูกบิดประตู ราวบันได ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ในอาคารสถานที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ในการตรวจหาปริมาณคลอรีนอิสระในน้ำประปานั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้ชุดทดสอบปริมาณคลอรีนอิสระในน้ำ (อ 31) ของกรมอนามัย ดำเนินการได้ ซึ่งใช้งานง่าย สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 3  เมษายน 2563