สธ.เตรียมโรงแรมกว่า 16,000 ห้อง เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม ตั้งเป้าภายในเดือนเมษายนนี้สามารถนำห้องพักของโรงแรมที่มีอยู่กว่า 16,000 ห้อง ใช้เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยและผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันที่ 2 เมษายน 2563 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บริหารโรงแรมเดอะพาลาสโซ และผู้บริหารโรงแรมปริ๊นซ์ตัน แถลงข่าวความคืบหน้าในการนำโรงแรมมาใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม

ดร.สาธิตกล่าวว่า ตามที่ได้รับมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดูแลเรื่องการจัดทำแผนด้านการรักษา โดยรวมศักยภาพโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชน จัดการเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นศูนย์บริหารจัดการ และได้ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ (Hotel Isolation) รวมทั้งได้เตรียมทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการแยกกักตัวเองจากครอบครัว

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า สำหรับโรงแรมปริ๊นซ์ตัน และโรงแรมพาลาซโซ ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Hospitel ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยโรงแรมปริ๊นซ์ตันมีจำนวน 270 ห้อง ขณะนี้รับผู้ป่วยพักฟื้นตามเกณฑ์กรมการแพทย์ประมาณกว่า 50 คน อยู่ห้องแยกทุกคน และโรงแรมพาลาซโซอีก 439 ห้อง

“ขอความร่วมมือสังคมให้เข้าใจสถานการณ์ว่าเราจะต้องจัดที่พักให้ผู้ป่วยระหว่างการพักฟื้น และผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงพอที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก เมื่อเรากักกันทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ จะลดการแพร่ระบาด จำนวนผู้ป่วยจะลดลง ขออย่ารังเกียจตีตรา ขอให้มั่นใจในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพราะเรามีระบบการดูแล จัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการ ไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น” ดร.สาธิตกล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เกณฑ์ 5 ข้อในการรับผู้ป่วยเข้าพักใน Hospitel คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอด (chest x – ray) คงที่ ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช ผู้ป่วยต้องไม่มีไข้ โรคประจำตัวควบคุมอาการได้ดี ผู้ป่วยมียามาจากโรงพยาบาลครบตามแผนการรักษา และโรงพยาบาลต้นทางยินดีมารับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลติดตามอาการทุกวัน จำนวน 3-5 คนต่อผู้ป่วย 100 คน และทุกห้องจะต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์อย่างน้อย 2 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะจัดให้ คือ เทอร์โมมิเตอร์แบบอัตโนมัติ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวต่อว่า เกณฑ์ในการประเมินความเหมาะสมของโรงแรมในการตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม แบ่งเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย 1.โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม ต้องมีความปลอดภัยโครงสร้างสมบูรณ์ไม่แตกร้าว ระบบความปลอดภัยพร้อมใช้งาน ห้องพักผู้ป่วยต้องเป็นห้องปรับอากาศแยกส่วนไม่เป็นระบบท่อส่งลมร่วมกัน 2.บุคลากร มีการจัดเตรียมบุคลากรสนับสนุนที่ผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง เหมาะสมในการให้บริการ 3.มีความเพียบพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ วัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและอื่น ๆ 4.มีการจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้ให้บริการอย่างเหมาะสม และ5.การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน มีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ได้มาตรฐาน ขณะนี้ มีโรงแรมทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมแล้ว 132 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ คาดว่าจะขยายจำนวนห้องพักฟื้นผู้ป่วยและผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังได้มากกว่า 16,000 ห้อง

ทั้งนี้ เมื่อโรงแรมผ่านการประเมินตนเองครบทุกข้อกำหนดในทุกหมวดแล้ว จะมีการจัดทำ Shopping List ให้โรงพยาบาลได้เลือกจับคู่กับโรงพยาบาลสนามที่มีระยะการเดินทางใกล้กัน เพื่อนำผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยหลังจากเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลเข้าพักฟื้น ขอเชิญชวนผู้ประกอบการโรงแรมที่สนใจจะเข้าร่วมลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hss.moph.go.th) พร้อมประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่กำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19 กรม สบส. โทร. 02 193 7024, 7059, 7097 ในวันและเวลาราชการ