นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 มีพื้นที่ระบาด จำนวน 76,221 ไร่ ใน 17 จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สุรินทร์ และอุบลราชธานี โดยได้ทำลายแล้ว ด้วยวิธีฝังกลบและ ราดสารกำจัดวัชพืช การใส่ถุง/กระสอบและตากแดด หรือวิธีบดสับและตากแดดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคฯ จำนวน 47,470 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 62 ของพื้นที่ระบาดทั้งหมด คงเหลือพื้นที่ระบาด จำนวน 28,751 ไร่ ใน 11 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ลพบุรี สระแก้ว สุรินทร์ และอุบลราชธานี
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่สำรวจ ติดตามพื้นที่ระบาดของโรค และดำเนินการกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค พร้อมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบในอัตราชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ ให้เกษตรกรเพื่อป้องกันกำจัดโรคฯ
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า สระแก้ว มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 385,906 ไร่ พบพื้นที่ระบาด จำนวน 43,680 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของจังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งที่พบการระบาดมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะอำเภอตาพระยาและอำเภอโคกสูง ปัจจุบันทำลายพื้นที่ระบาดไปแล้ว จำนวน 21,805 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ระบาดในจังหวัด คงเหลือ จำนวน 21,875 ไร่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการประชาคม/ติดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบพื้นที่ระบาดและเสนอคณะทำงานบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับอำเภอ พิจารณาอนุมัติการ ทำลายต่อไป
จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 1.43 ล้านไร่ พบพื้นที่ระบาด จำนวน 11,142 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 1 ของพื้นที่ปลูกในจังหวัด เป็นแหล่งที่พบการระบาดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ พบในอำเภอเสิงสางและอำเภอครบุรี ปัจจุบันทำลายไปแล้ว จำนวน 8,457 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 76 ของพื้นที่ระบาดในจังหวัด คงเหลือพื้นที่ต้องทำลายอีก จำนวน 2,685 ไร่ โดยอยู่ในกระบวนการอนุมัติการทำลายของคณะทำงานบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับอำเภอ เพื่อดำเนินการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค ต่อไป
ด้านการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่เกษตรกร พบว่า พื้นที่ที่ทำลายแล้ว ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบอนุมัติเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด เรียบร้อยแล้ว โดยเกษตรกรจะทยอยได้รับเงินชดเชยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทั้ง 2 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จังหวัดสระแก้ว ยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคเนื่องจากจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังติดกับแนวเขตชายแดนประเทศกัมพูชา ซึ่งมีสถานการณ์ระบาดของโรค โดยมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรคสามารถแพร่กระจายการระบาดในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์การระบาดซ้ำซาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชกันชนป้องกันการระบาดในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ไผ่ ไม้ผล อ้อย เป็นต้น หรือไม้ยืนต้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกใน แต่ละพื้นที่ ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตท่อนพันธุ์สะอาดใช้เองในชุมชน ตลอดจนการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป