กรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะพื้นที่ทางบนของประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (46/2563) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 – 4 เมษายน 2563)” ในช่วงวันที่ 1 – 4 เมษายน 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่ากับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป นั้น
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย โดยรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนืออ่างฯได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำเก็บกักที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ให้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว นอกจากนี้ ยังให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ไว้คอยช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลาแล้ว หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
30 มีนาคม 2563