กรมชล ประชุมร่วมกับคณะอนุฯ คาดน้ำทะเลหนุนเมษายนนี้ กำชับบริหารจัดการน้ำตามแผน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมไปถึงเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 รวมทั้งการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการสภาพอากาศว่า ในช่วงวันนี้(30 มี.ค.63)ไปจนถึงวันที่ 6 เม.ย. 63 ทางตอนบนของประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดฝนฟ้าคะนองได้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ จันทบุรี ระยอง ตราด และ สระแก้ว ซึ่งเป็นพายุฤดูร้อนส่งผลให้มีฝนตกและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น หลังจากนั้นปริมาณฝนจะลดลงและอากาศจะร้อนขึ้น

ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(30 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 36,516 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,178 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,307 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,611 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,100 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหรือกรณีฝนทิ้งช่วง

ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (30 มี.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 14,098 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 80 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 3,790 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 84 ของแผนฯ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ในระยะที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้างในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งหากเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมคาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนจะมีฝนตกลงทางตอนบนของประเทศ คาดว่าจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 7 – 10 เม.ย. และ 25 – 29  เมษายนนี้ จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ โดยการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที สำหรับใช้ในการเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะไม่กระทบต่อแผนการใช้น้ำที่วางไว้ ส่วนปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้แน่นอน จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดด้วย


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

30 มีนาคม 2563